เงินนอกท่วมหนีวิกฤตหนี้สหรัฐ เดือนเดียวซื้อบอนด์ทะลัก9หมื่นล้าน

นักลงทุนกังวลวิกฤตหนี้สาธารณะสหรัฐไร้ทางออก กดดันตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกป่วน เงินร้อนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง
เผยตั้งแต่ต้นปีเพิ่มขึ้นสุทธิ 310% ทะลักเข้าตลาดบอนด์เดือน ก.ค.กว่า 8.9 หมื่นล้านบาท


บีบค่าเงินบาทผันผวน ด้าน ธปท.มองบวกเชื่อรับมือ ผลกระทบวิกฤตหนี้สหรัฐได้ ชี้เศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้ดี

ผวาสหรัฐผิดนัดชำระหนี้

หลังจากที่แผนเพิ่มเพดานหนี้สองระยะของฝ่ายรีพับลิกัน ที่นำโดยจอห์น โบห์เนอร์ ประธานรัฐสภาสหรัฐ ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ ส่งผลให้แผนการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐที่มีเส้นตาย 2 สิงหาคมนี้ ยังไร้ทางออก กลายเป็นปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจทั่วโลก โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินเยนและฟรังก์สวิสก็ยิ่งพุ่งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยสกุลเงินญี่ปุ่นอยู่ที่ 77.53 เยนต่อดอลลาร์ จากเดิม 77.67 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนสกุลเงินสวิตเซอร์แลนด์แข็งขึ้น 0.1% มาอยู่ที่ 80.03 เซนต์ไทม์ต่อดอลลาร์ นับจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นแล้ว 5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินสหรัฐ

ขณะที่ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ก็ทรุดลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน โดยซีเอ็นเอ็นมันนี่รายงานว่า ในสัปดาห์นี้ลดลงไปแล้ว 3.5% เป็นดัชนีรายสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุด ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีกลาย ส่วนเอสแอนด์พี 500 และแนสแดคลดลง 3% ถือว่าเป็นดัชนีรายอาทิตย์ที่เลวร้ายที่สุด นับจากสิงหาคม 2553

สถานการณ์ที่ยังไม่มีความคืบหน้า ยิ่งสร้างความกังวลให้กับตลาดและนักลงทุนที่ส่วนใหญ่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ วอลล์สตรีต เจอร์นัล คาดว่าหากเกิดลดอันดับเครดิตมะกัน จะเกิดการเทขายตราสารดังกล่าวจากสถาบันที่มีข้อกำหนดว่าต้องถือเฉพาะพันธบัตรระดับ AAA เท่านั้น และอาจจะเกิดความโกลาหลในตลาดซื้อคืนซึ่งใช้พันธบัตรสหรัฐเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการระดมเงินกู้ระยะสั้น

จับตาแบงก์ขายทิ้งพันธบัตรสหรัฐ

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร กล่าวว่า สภาพตลาดเงินค่อนข้างน่ากังวลในสถานการณ์ที่ข้อตกลงยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งเวลาที่เหลืออยู่มีความเป็นไปได้ยากที่จะผ่านร่างกฎหมาย เพราะตอนนี้ทั้งฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันมีความเห็นแตกต่างกันค่อนข้างมาก และหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ เงินดอลลาร์จะร่วงลง แต่ผลที่ตามมาอีกอย่างคือดอกเบี้ยในตลาดจะปรับขึ้น ซึ่งต้องติดตามว่าจะทำให้มีสถาบันการเงินมีปัญหาหรือไม่ และต้องจับตาว่าธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ที่ถือพันธบัตรสหรัฐอยู่จะขายพันธบัตรออกมาหรือไม่ และจะทำให้สภาพตลาดเป็นอย่างไร

ขณะที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่ย่ำแย่สุดคือสหรัฐต้องผิดนัดชำระหนี้ คาดว่าการตอบรับของตลาดจะไม่ต่างจากตอนที่เลห์แมน บราเดอร์สล้ม คือทำให้ตลาดมีความกังวลเลิกให้เครดิตระหว่างกัน ซึ่งกระทบถึงความเชื่อใจในระบบการค้าระหว่างประเทศด้วย และสภาพคล่องดอลลาร์หายไปจากตลาด

หากเกิดภาวะนั้น ก็เป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะตัดสินใจมีมาตรการ QE3 เพิ่มสภาพคล่องเข้ามาในระบบเพื่อดูแลดอกเบี้ยไม่ให้สูงขึ้นเร็ว และในระยะยาวโดยพื้นฐานดอลลาร์ต้องอ่อนค่าลง ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับผลต่อประเทศไทย แง่ความผันผวนกับตลาดเงิน ตลาดหุ้น คงหลีกเลี่ยงความผันผวนได้ยาก ขณะที่ผลจากมูลค่าพันธบัตรสหรัฐที่ลดลงต่อทุนสำรอง เชื่อว่าจะไม่สร้างผลกระทบรุนแรง เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามยังมองผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยค่อนข้างจำกัด เพราะช่วงเหตุการณ์เลห์แมนฯล้ม ประเทศไทยก็ผ่านมาได้ค่อนข้างดี การค้าระหว่างประเทศคงได้รับผลบ้าง แต่จะไม่มีประเด็นสถาบันการเงินมีปัญหา หรือขาดสภาพคล่อง เพราะประเทศไทยมีการลงทุนในรูปพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศน้อย ขณะที่ธุรกิจก็พึ่งแหล่งเงินในประเทศเป็นหลัก ไม่ได้กู้เงินจาก ต่างประเทศ

"เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ค่าเงินผันผวนจากการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ จากการปรับตัวขึ้นลงของดอลลาร์ และตลาดหุ้นตกเพราะต่างชาติลดความเสี่ยงลง แต่เชื่อว่าผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงจะกระทบค่อนข้างจำกัด" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ตลาดหุ้น-ค่าเงินบาทผันผวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแผนเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐเลื่อนออกไป ทำให้ค่าเงินบาทเปิดตลาดช่วงเช้าวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมามีความผันผวน โดยเปิดตลาดอ่อนค่ามาอยู่ที่ 29.76/78 บาทต่อดอลลาร์ และต่อมาก็มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 29.70-29.75 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นแรงสวนทางตลาดหุ้นภูมิภาค เนื่องจากปัญหาสหรัฐกลับเป็นแรงผลักให้มีเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยประกาศออกมา ช่วยสร้างบรรยากาศการเก็งกำไร ทำให้ต้นสัปดาห์ ดัชนีเปิดที่ 1,115.75 จุด และปิดที่ 1,127.58 จุด (25 ก.ค.) โดยดัชนีปรับขึ้นสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ระดับ 1,135.25 จุด เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ก่อนจะปิดท้ายสัปดาห์ที่ระดับ 1,131.53 จุด ลดลง 0.85 จุด ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม (25-28 ก.ค.) ที่ 8,929.18 ล้านบาท

ด้านนายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พัฒนสิน กล่าวว่า ในกรณีที่สหรัฐสามารถขยายเพดานก่อหนี้ได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยบวกหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวขึ้นได้ แต่ไม่น่าจะสูงมาก เพราะตลาดยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องอื่นรออยู่ ส่วนกรณีสหรัฐไม่สามารถได้ข้อสรุปการขยายเพดานก่อหนี้ จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างน้อย 20% แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยอาจไม่ ปรับตัวลงแรง เนื่องจากมีข่าวกำไร บจ.หนุนคาดตลาดหุ้นจะขึ้นไปที่แนวรับ 1,113 จุด แนวต้านที่ 1,140-1,150 จุด

รายงานข่าวจากสมาคมตราสารหนี้ไทยระบุว่า ในช่วง 3 สัปดาห์แรก นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว รวมกันประมาณ 89,000 ล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่ข้อมูลจากบลูมเบิร์กระบุว่า เงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 2554 มีมูลค่า 756.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 310.4%

ธปท.เชื่อรับมือวิกฤตหนี้สหรัฐได้

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับกรณีปัญหาเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ ข้อคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยังมองว่าจะแก้ปัญหาได้ ไม่ได้มองกรณีแย่สุดว่าสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ และถูกลดความน่าเชื่อถือ

ตลาดการเงินจะยังผันผวนต่อไป แต่จะไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง เพราะจะเห็นว่าการส่งออก และการบริโภค ลงทุนในประเทศ ยังขยายตัวได้ดี และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดตอนนี้จะไม่กระทบต่อภาพรวมทั้งอุปสงค์และการทำธุรกิจในประเทศ

นายเมธีกล่าวว่า เศรษฐกิจในเดือน มิ.ย.ขยายตัวได้จากทั้งความต้องการในประเทศและต่างประเทศ โดยการผลิตปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ หลังปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนของภัยพิบัติในญี่ปุ่นคลี่คลายลง ขณะที่ภาพรวมของไตรมาส 2/54 คาดว่าการขยายตัวใกล้เคียงกับที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินที่ 3.6% แม้เศรษฐกิจจะมีแรงขับเคลื่อนจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศ แต่การลงทุนเอกชนเริ่มชะลอตัวลง หลังจากที่เริ่มมีการเร่งลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่การผลิตชะลอลงตามผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น แต่คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในครึ่งหลังของปี
ที่มาประชาชาคิธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: