รัฐบาลเตรียมกู้1ล้านล้านถมเมกะโปรเจ็กต์

เล็งกู้1ล้านล้านถมเมกะโปรเจ็กต์ รัฐให้งบแค่40% "คมนาคม"อยากทำต้องหาเงินเสริม คมนาคมชงแผน 5 ปีสนองพรรคเพื่อไทย ใช้เงินลงทุนกว่า 1.76 ล้านล้านบาท เผยมีเงินงบประมาณ 40% 7 แสนล้าน อีก 1.06 ล้านล้านบาท ต้องหามาเติมจาก 5 แหล่ง เงินกู้ใน-ต่างประเทศ รายได้รัฐวิสาหกิจ และ PPPs
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2554-2558) เสนอให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่พิจารณาแล้ว


เพื่อประกอบการจัดทำร่างนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทย ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,768,808.44 ล้านบาท เน้นระบบขนส่ง ระบบรางและโลจิสติกส์

ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งภายในประเทศ พัฒนาจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 322,531.41 ล้านบาท หรือ 18.23% 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์การขนส่ง 318,587.05 ล้านบาท 18.01% 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบขนส่งให้มีมาตรฐานความปลอดภัย 347,542.47 ล้านบาท 19.65% 4.ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบขนส่งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 770,006 ล้านบาท 43.53% และ 5.ยุทธศาสตร์บริหารจัดการระบบขนส่งและจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ 10,140.92 ล้านบาท 0.57%

ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์เงินลงทุนมาจากงบประมาณ 40% หรือ 707,523 ล้านบาท อีก 1.06 ล้านล้านบาท หรือ 60% มาจากเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ เงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ การร่วมลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPPs (Public Private Partnership)

หน่วยงานที่ใช้เงินลงทุนสูงสุด คือ กรมทางหลวง (ทล.) 505,401 ล้านบาท เช่น มอเตอร์เวย์ 5 สายทาง 5 ปี เงินลงทุน 83,166 ล้านบาท ฯลฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วงเงิน 472,251.94 ล้านบาท เช่น รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ฯลฯ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 302,091 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สาย คือ สีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) 48,203.40 ล้านบาท, สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) 75,256 ล้านบาท, สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ) 56,262.80 ล้านบาท, สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 27,043.20 ล้านบาท, สีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) 66,889 ล้านบาท, สีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 28,436 ล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 172,036.35 ล้านบาท เช่น โครงข่ายทางหลวงเพื่อการท่องเที่ยว 4,393.14 ล้านบาท ฯลฯ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 111,998 ล้านบาท อาทิ โครงการจัดหาเครื่องบิน 110,035 ล้านบาท ฯลฯ

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 48,131.83 ล้านบาท เช่น จัดหารถเมล์ NGV 4,000 คัน 22,536 ล้านบาท ฯลฯ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. วงเงิน 47,261.22 ล้านบาท เช่น พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ 36,500 ล้านบาท ฯลฯ

กรมเจ้าท่า (จท.) 44,745.25 ล้านบาท เช่น เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 4,934 ล้านบาท ฯลฯ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 25,092.06 ล้านบาท เช่น ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก 23,627 ล้านบาท ฯลฯ

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) วงเงิน 17,902.03 ล้านบาท เช่น พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 11,322.73 ล้านบาท เช่น สร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าที่เชียงของ 1,522 ล้านบาท ฯลฯ

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) 4,467.92 ล้านบาท สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วงเงิน 2,754.26 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 1,724.45 ล้านบาท

บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 868.59 ล้านบาท กรมการบินพลเรือน (บพ.) วงเงิน 652.82 ล้านบาท และงบประมาณของทางสำนักปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.) วงเงินทั้งสิ้น 106.96 ล้านบาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: