7 วิธีมัดใจลูกค้า ในยุคการบนอินเตอร์เน็ตปี 2012

7 วิธีมัดใจลูกค้า ในยุคการบนอินเตอร์เน็ตปี 2012 เมื่อผู้บริโภคยุคใหม่หันมานิยมโซเชียลเน็ตเวิร์ค เสพข้อมูล หาข่าวผ่านสื่ออดิจิตอลมากขึ้น ทำให้ยอดการใช้บนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงกลายเป็นช่องทางทำตลาดอีกทางเลือกหนึ่งของพาเหรดสินค้าและบริการที่แห่ทำ แคมเปญออนไลน์ หรือ สื่อสารและกิจกรรมโปรโมชั่นบนโลกเสมือนจริง
ที่ไม่แตกต่างจากโรดโชว์กันมากมาย แต่จะทำอย่างไรให้เข้าถึงลูกค้าและ ที่สำคัญคือ เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ด้วย โจทย์นี้ กูรูในแวดวงดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งและอีคอมเมิร์ซมีคำตอบ


“เนื่องจากผู้บริโภคก็พร้อมและมีพฤติกรรมคุ้นชินกับการใช้ชีวิตออนไลน์ ส่วนผู้ประกอบการมีความเข้าใจ และวงการสื่อเอง เริ่มมีความพร้อมในการเปิดบริการใหม่ๆ รองรับสื่อออนไลน์สูงขึ้น รวมทั้งใช้เวลาปรับตัวและศึกษามานานกว่า 2 ปีแล้ว ทำให้ในปี 2555นี้นักการตลาดจะกล้าตัดสินใจและวางแผนอย่างจริงจังในการทำตลาดมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันของกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งดุเดือดมากขึ้นกว่าเดิม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล วิเคราะห์แนวโน้มให้ฟัง

ดังนั้น หากต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าในโลกออนไลน์หรือ สมาชิกบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะคนไทยบนเฟซบุ๊คที่มีกว่า 13.3 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่มีอายุ 18-24 ปี จำนวน 34% และ 25-34 ปี จำนวน 29% ส่วนบนทวิตเตอร์มีสมาชิกกว่า 8.5 แสนคน และยูทูบมีผู้เข้าใช้งานต่อวันมากกว่า 5 ล้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่จะพิชิตใจลูกค้า ในฐานะดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งกูรูที่คลุกคลีวงการออนไลน์มากกว่า 10 ปี ได้แนะนำไว้ 7 เทคนิคไว้ดังนี้

หนึ่ง- หาให้เจอกลยุทธ์ออนไลน์ที่ “ใช่ โดยองค์กรต้องคัดสรรกลยุทธ์ที่เหมาะกับตน และทำอย่างไรให้ได้ผลเลิศ สำหรับกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง ( DIGITAL MARKETING STRATEGY - Corporate Wants to Get It Right) โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์การตลาดออนไลน์นี้ ต้องขยายผลไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์ค ให้ลูกค้ากลับมาหาอย่างต่อเนื่อง (Repeat Visit) ในเฟซบุ๊ค หรือเว็บไซต์ แล้วพัฒนาความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับลูกค้าสู่การทำการตลาดและการซื้อสินค้าได้จริง

เนื่องจาก องค์กรต่างๆเริ่มเข้าใจในการตลาดออนไลน์และโซเชียลมีเดียจากการใช้งานจริงแล้ว ดังนั้นนักการตลาดต้องมองหาสูตรสำเร็จที่เหมาะกับสินค้าและบริการของตน อาทิ นโยบายที่กำหนดรูปแบบการสนทนาในเฟซบุ๊ค การสร้างแคมเปญออนไลน์ และข้อปฏิบัติเมื่อเกิดวิกฤตหรือมีข้อความเชิงลบ (Negative Message) เกิดขึ้นในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น จนถึงการเชื่อมดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งบนแพลตฟอร์มให้ทำงานได้ครบวงจร เช่น Search, Social Media, e-Mail Marketing, Mobile Marketing ฯลฯ

สอง-ใช้อินติเกรตดิจิตอลแพลตฟอร์มสร้างเครื่องมือทรงพลัง(DIGITAL PLATFORM INTEGRATION - Social Everywhere) โดยให้สอดประสานในทุกช่องทางออนไลน์ เชื่อมโซเชียลในทุกพื้นที่สื่อออนไลน์ เพราะจะทำให้การทำงานของออนไลน์แพลตฟอร์มทั้งหมดเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายที่ทรงพลังทางการตลาดได้อย่างคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น การเชื่อมโยงระหว่างเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซ แคมเปญออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และ e-CRM เป็นต้น เพราะเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟในแต่ละแพลตฟอร์มเป็นเสมือนตัวช่วยให้นักการตลาดวิเคราะห์ ทำการตลาดและขยายผลด้วยกลไกอัตโนมัติได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว

สาม-วัดผลความสำเร็จของโซเชียลมีเดียด้วยเป้าหมายธุรกิจที่ตั้งไว้ (SOCIAL MEDIA FOR BUSINESS RESULT - More Business Focus, More Measurable) แม้ว่าจำนวนสมาชิกในเฟซบุ๊คหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ขององค์กร สะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่สร้างฐานการสื่อสารได้ในระยะแรก แต่ในปีหน้าที่มีการแข่งขันสูง เป้าหมายที่แท้จริงจึงไม่ใช่ปริมาณอีกต่อไป เพราะนักการตลาดจะหันมาเรียกร้องบทสรุปที่วัดผลทางการตลาดเชิงคุณภาพ และการสร้าง Sales Lead มากขึ้น
อีกทั้ง การเปรียบเทียบข้อมูลทางการตลาด (Benchmark) กับคู่แข่งและธุรกิจใกล้เคียง ยังเป็นข้อมูลที่ซับซ้อน แต่ระบบอินเตอร์แอคทีฟของโซเชียลมีเดียก็มีคุณสมบัติที่เอื้อให้ผู้เชี่ยวชาญใช้วิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูล หาผลลัพธ์จากแคมเปญหรือการประชาสัมพันธ์ได้

สี่-สร้างแรงดึงดูดให้ผูกพันธ์กับแบรนด์ด้วย Branded Content ( BRANDED CONTENT - Better ฤQuality Reach with Engaging Conversations) โดยเน้นทำให้คอนเทนต์ ดึงดูด เชื่อมโยงกับสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆและสร้างสายสัมพันธ์กับผู้บริโภค ( หรือ Attract ,Interact , engage, and Relationship) อันเป็นปรากฏการณ์กระชับวงล้อมรอบตัวผู้บริโภคด้วย Branded Content ผ่านสื่อออนไลน์มีเดียที่หลากหลาย

เนื่องจาก คุณลักษณะเด่นของสื่ออินเตอร์แอคทีฟ คือ การถ่ายทอด Branded Content ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคผ่านเรื่องราว (Story) ในรูปแบบ Web Video, Webisode, Web Movie หรือ การสร้าง Lifestyle App, e-book, หรือ Game ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น และง่ายยิ่งขึ้นเมื่อเนื้อหานั้นอยู่ในระยะประชิดตัวตลอดเวลาอย่างมือถือ แทบเล็ต แถมผู้บริโภคยังพร้อมให้เวลาส่วนตัวและยินดีที่จะแนะนำต่อให้เครือข่ายด้วยเทคโนโลยีในการถ่ายทอดแสนสะดวก การได้อินเตอร์แอคกับเนื้อหาของแบรนด์ จะสร้างการจดจำและเข้าใจแบรนด์ได้ดี

ห้า- ซื้อง่ายขายคล่องบนโลกอีคอมเมิร์ซ (E/F/M-COMMERCE - Anytime & Anywhere) เนื่องจาก E-commerce, F-Commerce, M-commerce เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคที่นิยมการช้อปปิ้งออนไลน์ ดังนั้นแบรนด์ควรให้ความสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มรองรับความต้องการซื้อของผู้บริโภค หากผู้บริโภคสนใจสินค้าที่กำลังค้นหาออนไลน์ ต้องซื้อได้ทันที โดยสินค้าจะต้องมีราคาโดนใจ ช้อปง่ายและได้ของไว เทรนด์นี้เป็นที่น่าสนใจของนักการตลาด เพราะเร่งยอดขายได้และถูกใจผู้บริโภค

สำหรับสินค้าที่อยู่ในลิสต์ยอดนิยม ได้แก่ บันเทิง-เพลง-ภาพยนตร์ หนังสือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแฟชั่น ส่วนช่องทางที่น่าลงทุนสร้างระบบมากที่สุด คือ M-Commerce ที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายจากสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต

หก-ต้องเข้าใจดิจิตอลเทคโนโลยีและเลือกช่องทาง เพื่อแจ้งเกิดในใจผู้บริโภค (DEVICE + APP + TECHNOLOGY - Consumer Takes Choices; Corporate Takes Chances) เนื่องจากอุปกรณ์สื่อสาร แอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นสิ่งท้าทายของนักการตลาดและยังเป็นตัวแปรที่ผลักดันให้ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งในประเทศไทยมีความสำคัญ ทำให้ผู้บริโภคต้องเลือก ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต หรือค่ายมือถือและแอพที่เกี่ยวข้อง ล้วนแต่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นเมื่อมีช่องทางและเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคการมีตัวเลือกมากขึ้น จัดเป็นข้อดี เพราะกลไกราคาและคุณภาพของสินค้าหรือบริการ แบรนด์อื่นก็เข้ามาแข่งขัน ดังนั้น นักการตลาดต้องตัดสินใจในเรื่องเงินลงทุนและช่องทางโฆษณาให้เหมาะสม

เจ็ด- ทำโปรโมชั่นออนไลน์ที่สดใหม่ได้ทุกวัน เพื่อเพิ่มยอดขาย ( SHORT-TERM PROMOTION - As Hot as Deal! เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันแคมเปญออนไลน์กระตุ้นใจนักช้อป ด้วยการลดเฉพาะกิจหรือแจกคูปองออนไลน์ ยิ่งซื้อก็ยิ่งมีโปรโมชั่นตามมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง พฤติกรรมปัจจุบัน เวลาซื้อของผู้บริโภคไม่ได้เสิร์ชหาข้อมูลหรือถามความเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองหาแคมเปญลดราคาออนไลน์ที่มีทั้งร้านและสินค้าให้เลือกมากมายที่ปลายนิ้ว ดังนั้น หากนักการตลาดรายใดสามารถสร้างโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดผู้บริโภคได้เร้าใจกว่า ถูกใจกว่า และมีความถี่อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ของห้าง และโซเชี่ยลมีเดียแบรนด์เพจ ก็จะพิชิตยอดขายได้มากกว่า

ตัวอย่างเช่น Flash Deal หรือ Deal of the Day เป็นสิ่งที่ทุก e-Shop ควรสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดให้เกิด Daily Visit จากนักช้อป แม้แต่ e-coupon ที่ยังคงมาแรง ดังนั้น แบรนด์หรือองค์กรต้องพึ่งนักการตลาดที่ตัดสินใจรวดเร็วและมีทักษะบริหารจัดการได้ทั้งระบบปฏิบัติการออนไลน์และออฟไลน์คู่ขนานกัน เพื่อสร้างมาตรฐานของร้านค้าให้เป็นที่จดจำและซื้อซ้ำอีก

“ปัจจุบันข้อจำกัดเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่กล้าทดลองการตลาดออนไลน์ลดน้อยลงมาก แต่ปัจจัยที่สำคัญที่นักการตลาดต้องตัดสินใจให้เฉียบขาดก่อนลุยแผนกลยุทธ์ตลาดออนไลน์ คือ นโยบายและวิสัยทัศน์ต่อ Integrated Digital Platform ที่มีทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แบนเนอร์ แอพพลิเคชั่น โมบาย หรือ แคมเปญออนไลน์ ฯลฯ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด การลงทุนกับดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง การพัฒนาศักยภาพของทีมวางแผนและทีมปฏิบัติการ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับส่วนงานขาย ขนส่ง บริการ ฯลฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” อุไรพรเสริมท้าย
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์



ไม่มีความคิดเห็น: