กานต์ ตระกูลฮุน นักธุรกิจแห่งปี 54 ผู้นำองค์กรสู่ “ความยั่งยืน”

กานต์ ตระกูลฮุน นักธุรกิจแห่งปี 54 ผู้นำองค์กรสู่ “ความยั่งยืน”
เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG ในยุคของ กานต์ ตระกูลฮุน สังคมธุรกิจอุตสาหกรรมได้เห็นบทบาทการขับเคลื่อนองค์กรตามทิศทางที่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ภายในปี 2558 เอสซีจี จะเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรแห่งนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

นั่นเป็นวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ชี้นำทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ต้องมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรมรองรับพร้อมทั้งได้กำหนดกลยุทธ์ 2 ข้อเพื่อให้บรรลุสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ 1.การขยายงานไปในภูมิภาคอาเซียน 2.การพัฒนาสู่สินค้าและบริการที่เป็น High Value ที่สูงทั้งคุณค่าและมูลค่า


พัฒนา “คน”
ให้เป็นกลไกสู่การเติบโต

การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ของเอสซีจีทุกรุ่นซึ่งใช้ระยะเวลา 1 เดือน “พี่กานต์” ที่ทุกคนในองค์กรเรียกขานจะเป็นครูคนแรกของน้องๆ ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ 4 ในการดำเนินธุรกิจ และในวันสุดท้ายของโปรแกรมพี่กานต์ก็จะมาใช้เวลากับน้องๆ อีกครั้ง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน และการใช้ชีวิต รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยและตอบข้อสงสัยทุกข้อด้วยความเป็นกันเองแบบพี่ๆน้องๆ นอกจากนี้ การอบรมพนักงานในหลักสูตรสำคัญๆ กานต์ ก็จะจัดเวลามาพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกับน้องๆ เอสซีจี พร้อมทั้งเล่าสถานการณ์ทางธุรกิจ ประสบการณ์ทำงาน ไปจนถึงการตอบคำถามในทุกๆเรื่อง

วัฒนธรรมการสร้าง “คน” เอสซีจี คือ การสร้างคน “เก่งและดี” อย่างเป็นกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนสรรหา ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพ ด้วยหลักสูตรอบรมในทุกระดับชั้น ให้ทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังให้โอกาสพนักงานให้มีเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจนภายในเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่กว่า 200 บริษัท สามารถให้โอกาสพนักงานได้หมุนเวียนสายงานเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

ในฐานะผู้บริหารสูงสุด หรือซีอีโอ กานต์มีการเดินสาย เพื่อพบปะเยี่ยมเยือนกับพนักงานในเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ทั้งในไทยและในต่างประเทศทุกปี แต่ละแห่งกานต์จะลงไปตรวจเยี่ยมและพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะ และปัญหาจากพนักงานทุกระดับ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมทางความคิด และแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้กับส่วนอื่นๆ เช่น กระบวนช่วยลดต้นทุน การผลิต หรือเวลา ตลอดจนการคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากการปฏิบัติจริง

สร้างแบรนด์ “เอสซีจี”
ให้แข็งแกร่ง

การบริหารจัดการแบรนด์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือการเปลี่ยนจาก “เครือซิเมนต์ไทย” เป็น “เอสซีจี” เป็นการเสริมความแกร่งให้แบรนด์ของกลุ่มธุรกิจ โดยใช้ชื่อเรียกนำหน้าด้วย “เอสซีจี” เช่น เอสซีจี ซิเมนต์ เอสซีจี เคมิคอลส์ เอสซีจี เปเปอร์ เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จากนั้นก็บริหารจัดการแบรนด์ย่อยของแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น การรวมแบรนด์คอตโต้ รวมแบรนด์ “ตราช้าง” ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าวัสดุก่อสร้างที่เป็นที่รู้จักกันมานานให้เป็นหนึ่งเดียว

เป้าหมาย ที่เอสซีจีตั้งไว้ คือต้องแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำ โดยเจาะกลุ่มตลาดที่ยังมีโอกาสขยายให้เติบใหญ่ในอาเซียน จึงพัฒนาสินค้า ยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานให้สูงขึ้น แล้วใส่นวัตกรรมที่องค์กรมีอยู่ เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญ คือ มีแบรนด์ “SCG” เข้าไปทำความรู้จักในตลาดอาเซียน นับเป็นการเปิดตลาดอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค ก่อนจะขยายไปสู่ตลาดโลก

ชูนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม
สร้างเทคโนโลยีของตัวเอง

กานต์มักบอกกับพนักงาน ว่าไม่เพียงแต่สร้างแบรนด์ “เอสซีจี” ต้องสร้างเทคโนโนโลยีของตัวเอง จึงต้องคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผลก็คือ เมื่อปี 2547 ที่เอสซีจีตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นองค์กรนวัตกรรมนั้น มีสินค้า HVA หรือหมวดที่มีมูลค่าสูงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมแต่ปัจจุบัน สัดส่วนสินค้า HVA ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะผู้นำองค์กรยืนยันการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มุ่งมั่นสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีลงทุนด้านลิ่งแวดล้อม กว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากการสนับสนุนสังคมและชุมชนอีกประมาณปีละกว่า 400 ล้านบาท

การพัฒนาสินค้า แสดงจุดยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เอสซีจี อีโคแวลู (SCG Eco Value) เป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคและชี้นำผู้บริโภคว่า นับจากนี้ไปจะต้องมาช่วยกันดูแลโลกด้วยกัน

จากการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development- SD) อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ SCG ได้รับการประเมินและจัดอันดับในดัชนีวัดประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนดาวน์โจนส์ หรือ DJSI ให้เป็นองค์กรชั้นนำระดับ Gold Class ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2554 โดยในปีนี้ SCG ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น World Sector Leader โดยมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจวัสดุก่อสร้างด้วย

ริเริ่มความร่วมมืออุตสาหกรรมในระยอง

ในช่วงปลายปี 2552 หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับ 76 โครงการในมาบตาพุด อุตสาหกรรมหลายแห่งทั้งของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศต้องหยุดชะงัก

กานต์ มีแนวคิดที่จะชักชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ในมาบตาพุดมาร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ในพื้นที่ให้พัฒนาอย่างยั่งยืน จึงรวมตัวขึ้นเป็น “เพื่อนชุมชน” เป็นความร่วมมือครั้งแรกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระยอง กิจการ คือ ปตท เอสซีจี บีแอลซีพี โกลว์ และดาว เคมิคอล โดยร่วมกันทำข้อตกลงในการพัฒนาต้นแบบโรงงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมจะทำให้มากกว่าข้อกำหนดกฎหมายโดยคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนเป็นสำคัญ

รับวิกฤตน้ำอย่างมืออาชีพ

เอสซีจี ประกาศปิดชั่วคราวสำนักงานใหญ่ บางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2554เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงว่า พื้นที่ในบริเวณนั้นอาจถูกน้ำท่วม และเพื่อความปลอดภัยของพนักงานจึงเปิดสำนักงานอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 แม้การปิดชั่วคราวสำนักงานใหญ่ที่ปกติมีพนักงาน 6,000 คน ทำงานอยู่นั้น ก็ไม่ได้ทำให้ธุรกิจของเอสซีจีต้องหยุดชะงัก

ทั้งนี้ เพราะกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ตระหนักดีว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน มีความเสี่ยงที่อาจเผชิญกับภัยคุกคามและเกิดเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การหยุดชะงัก เกิดความสูญเสีย หรือภาวะวิกฤตได้ โดยภัยคุกคามอาจมาจากสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน หรือเหตุปัจจัยอื่น ๆ ธุรกิจต้องดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เอสซีจี จึงตั้งทีมศึกษา BCM (Business Continuity Management) หรือการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยครอบคลุมในทุกเรื่องที่อาจเป็นสาเหตุให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่ยากแก่การควบคุม อย่างเช่นน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ หรือ แผ่นดินไหว พายุถล่ม การเกิดโรคระบาด รวมไปถึงการชุมนุมทางการเมืองด้วย

สิ่งที่สำคัญจะต้องมีการเตรียมความพร้อม และหาโอกาสซักซ้อมแผนงานอยู่เสมอ เพื่อให้แต่ละคนรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะต้องทำอย่างไร โดยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เอสซีจี จึงมีความพร้อมรับน้ำอย่างเต็มที่ ทีม BCM เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำจากภาคเหนือมาเป็นเดือน ก็ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่น้ำจะไหลลงสู่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

มีการจัดตั้ง war room ขึ้นที่สำนักงานใหญ่ บางซื่อ เพื่อประเมิน ติดตาม วิเคราะห์ ทิศทางและความรุนแรงของปริมาณน้ำ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเตรียมมาตรการป้องกันภัยอย่างจริงจัง ทุกเช้าของห้อง war room ผู้บริหารระดับสูงจะเข้าร่วมประชุม หรือประชุมทางโทรศัพท์ เพื่อตามทันสถานการณ์น้ำประจำวัน วิเคราะห์ผลกระทบทั้งต่อธุรกิจและพนักงาน การดูแลช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบ การดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการช่วยเหลือชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีพนักงานจิตอาสาออกช่วยเหลือด้านต่างๆ

สะท้อนให้เห็นถึง ภาวะผู้นำของ กานต์ ตระกูลฮุน ในฐานะผู้บริหารที่มีทั้งแนวคิดและกลยุทธ์การบริหารองค์กรบริหารธุรกิจที่เป็นต้นแบบของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นแบบอย่างที่ดี

- จุดเปลี่ยนธุรกิจไทยสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

- เรียนรู้แนวคิดการบริหารและการพลิกแพลงกลยุทธ์รับมือภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และภัยพิบัติ

- ยุทธศาสตร์เตรียมรับมือทุนข้ามชาติยุคเปิดเสรีอาเซียน 4 ปีข้างหน้า

ปี 2554 จัดเป็นแห่งการเปลี่ยนแปลง เกิดปรากฎการณ์ใหญ่ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ภัยพิบัติ รวมถึงธุรกิจใหญ่ ที่ส่งแรงกระเพื่อมแทบทุกธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แวดวง อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ไอที ค้าปลีก และโรงพยาบาลที่จัดว่า เป็นบิ๊กมูฟ และบิ๊กดีลแห่งปี ที่สำคัญ อันทำให้องค์กร ธุรกิจดังกล่าวผ่านพ้นมรสุมลูกแล้วลูกเล่าไปได้ด้วยดี นั่นเป็นเพราะ การมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล แนวคิด และชั้นเชิงการบริหารจัดการของผู้นำองค์กรเหล่านี้
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น: