ทศ จิราธิวัฒน์ นักธุรกิจแห่งปี 54 แม่ทัพเซ็นทรัลบุกตลาดโลก

ทศ จิราธิวัฒน์ นักธุรกิจแห่งปี 54 แม่ทัพเซ็นทรัลบุกตลาดโลก
บิ๊กดีลครั้งประวัติศาสตร์ของวงการค้าปลีกเมืองไทยต้องยกให้กรณีกลุ่ม เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือซีอาร์ประกาศเข้าซื้อกิจการซื้อกิจการห้าง ลา รีนาเซนเต หรือLa Rinascentห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ในอิตาลี ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 10,000 ล้านบาท หรือ 260 ล้านยูโร โดยเซ็นสัญญาและชำระเงินเรียบร้อยแล้วช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีหัวเรือใหญ่คนนี้ “ทศ จิราธิวัฒน์” เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนธุรกิจในครั้งนี้

ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของซีอาร์ซี ทศมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางองค์กร
ทั้งการสร้างยอดขาย สร้างกำไร และสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทหรือแบรนด์ได้ บริษัทจะเป็นอย่างไร นั่นคือ ภารกิจของเขาแน่นอนว่า สิ่งที่ทศเคยประกาศไว้เมื่อครั้งยอมรัวว่า การเป็นซีอีโอ มีหน้าที่ดูแลทั้งหมดรวมถึงอนาคตของธุรกิจระยะ3 ปี 5ปี และดีลครั้งนี้ตอบโจทย์อนาคตของกลุ่มซีอาร์ซีแล้ว ไม่ได้โตแค่ในประเทศ แต่ยังเติบโตในต่างประเทศควบคู่กันไป


ความสำเร็จของบิ๊กดีล ภายใต้การนำทัพของทศครั้งนี้ กล่าวได้ว่า ไม่เพียงเป็นสร้างปรากฎการณ์ใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี ในฐานะธุรกิจไทยที่กล้าควักทุนร่วมหมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนขยายธุรกิจค้าปลีกไทยในต่างประเทศ หลังจาก่อนหน้าไปลงทุนที่จีนมาแล้ว แต่ยังเป็นส่วงหนึ่งของการเดินหน้ายุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกโกอินเตอร์ของกลุ่มซีอาร์ซี ที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตด้วยนโยบายการขยายธุรกิจโดยการซื้อหรือควบรวมกิจการ ( Mergers & Acquistions ) เพื่อหวังเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยสำรองวงเงินไว้ถึง 30,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อกิจการและควบรวม

นอกจากนี้ ยังถือเป็นบิ๊กมูฟแห่งปีของกลุ่มค้าปลีกเซ็นทรัลที่ตัดสินใจลงทุนใหญ่ในปีนี้ในอิตาลี แม้ว่าค้าปลีกในยุโรปที่จัดว่าเป็นตลาดปราบเซียนสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกต่างชาติ เพราะต้องแข่งขันกับค้าปลีกในท้องถิ่นที่เก่าแก่ และยังต้องช่วงชิงกับค้าปลีกข้ามชาติจากภูมิภาคอื่นๆจากเอเชียและยุโรปด้วยกันเอง แต่หากมองในปัจจัยแวดล้อมเวลานั้น อันเป็นช่วงเศรษฐกิจในอิตาลีเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถือว่าเป็นจังหวะดีและเอื้ออำนวยให้ “ ซื้อของดี ราคาถูก”อย่างลงตัว

อย่างไรก็ตาม ก่อนบิ๊กดีลสำเร็จ ได้ปรากฎกระแสข่าวออกมาว่า กลุ่มซีอาร์ซีได้ยื่นประมูลในวงเงิน 220 ล้านยูโร ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 250 ล้านยูโร และเพิ่มเป็น 260 ล้านยูโรในครั้งสุดท้าย แถมยังต้องรับภาระหนี้สินเดิมของห้างอีกส่วนหนึ่งด้วยคาดว่ามีประมาณ 50 ล้านยูโร และเป็นการซื้อสิทธิ์ตัวแบรนด์และกิจการแต่ไม่ได้ในแง่ทรัพย์สินเพราะเป็นพื้นที่เช่า

สำหรับห้างลารีนาเซนเตนี้ เป็นห้างใหญ่ที่สุดในอิตาลี มีอายุกว่า 150 ปี มีสาขารวม 11 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 50,000 ตารางเมตร กระจายตามเมืองสำคัญในอิตาลีคือ มิลาน มอนซา แพดัว ตูริน เจนัว ฟลอเรนซ์ กาลนารี ปาแลร์โม คาตาเนีย และโรม 2 สาขา โดยมีสาขาที่เมืองมิลานเป็นแฟลกชิปสโตร์ มียอดขายในปี 2553 ประมาณ 350 ล้านยูโรหรือประมาณ 15,000 ล้านบาท

สาเหตุที่ตัดสินใจซื้อ ลา รีนาเซนเต ทศ บอกว่า ต้องการสร้างฐานธุรกิจค้าปลีกให้แข็งแกร่งในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างเครือข่าย ที่มาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจไทยมีโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจต่างประเทศผ่านทางซีอาร์ซี อีกทั้งที่มิลานนี้ ยังถือเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลกด้วย มีนักท่องเที่ยวมามิลานมากกว่า 22 ล้านคนต่อปี

“ ที่สำคัญ ต้องการสร้างลารีนาเซนเตให้เป็นโกลบอลแบรนด์ และขยายธุรกิจในต่างประเทศ อีกทั้ง สายสัมพันธ์อันดีกับแบรนด์แฟชั่นและดีไซน์ของห้างทั้งในอิตาลีและนานาชาติตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเชื่อว่า ความสัมพันธ์ที่ดีดังกล่าวเป็นประโยชน์กับการขยายตลาดใหม่ๆ รวมถึงการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์เหล่านั้นจากทั้งอิตาลีและนอกประเทศได้อีกด้วย"

อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อกิจการห้างลารีนาเซนเตครั้งนี้จะเป็นการสร้างรายได้เติบโตอย่างมาก โดยคาดว่าปีนี้ยอดขายรวมซีอาร์ซี ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้จากลารีเซนเตประมาณ 15% และเมื่อรวมกับการที่บิ๊กซีเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในไทยก่อนหน้านี้แล้วจะส่งผลให้ซีอารณ์ซีมีรายได้สิ้นปีนี้ประมาณ 230,000 ล้านบาทด้วย โดยครึ่งปีแรกซีอาร์ซ๊มีรายได้เติบโต 10% ขณะเดียวกัน ส่งผลให้แบรนด์ในเครือห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเซ็นทรัลรีเทลจาก 3 แบรนด์ เพิ่มเป็น 4 แบรนด์ คือ เซ็นทรัล เซน โรบินสัน และลารีนา เชนเต

นอกจากนี้ เขายังแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะแม่ทัพค้าปลีกเต็มตัว ด้วยการกำหนดภารกิจสำคัญที่เขาต้องการสร้างให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อครั้งเขารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของซีอาร์ซีเมื่อไม่กี่ที่ผ่านมา นั่นคือ การมีแบรนด์สินค้าของตัวเอง โดยเขาได้ประกาศการรุกธุรกิจ OBM (Own Brand Manufacturing) อย่างเข้มข้น เมื่อครั้งโชว์วิสัยทัศน์ในปี 2553 โดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการมีแบรนด์เป็นของตนเอง ขณะเดียวกันก็เป็นโต้โผใหญ่ในการจัดสรรให้เจ้าของสินค้าแบรนด์ไทยได้พบปะกับห้างค้าปลีกจากต่างชาติที่สนใจจะนำสินค้าแบรนด์ไทยไปจำหน่าย

ขณะเดียวกัน ล่าสุดในช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา แม้ศูนย์การค้าในเครือ เช่น ห้างเซ็นทรัล-โรบินสัน่ต้องปิดบริการ เช่น ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า และรามอินทรา แฟชั่นไอส์แลนด์ รวมทั้งเครือข่ายร้านค้าปลีกรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อ ท็อปส์ เป็นต้นชั่วคราว แต่ค้าปลีกเครือซีอาร์ซี ยังคงเติบโตในอัตรา สูงกว่าเป้าหมายเดิมคาดการณ์ยอดขายปีนี้เติบโต 10.1% เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ทำให้ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ผนวกกับแผนการลงทุนที่มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง

ส่งท้ายปีเก่า ทศประกาศเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ในปี 2555 ถือเป็นการปรับใหญ่ในรอบ 10 ปี หลังจาก เซ็นทรัลปรับโครงสร้างเพื่อความเป็นเลิศ (Central s Restructure For Excellence) มานานกว่า9 ปี เป้าหมายก่าการปรับโครงสร้างบริหารครั้งนี้ ไม่เพียง ให้เกิดความคล่องตัวและชัดเจนในเรื่องต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในแต่ละห้วงเวลา

ยังเป็นการส่งไม้ต่อให้กับทายาทจิราธิวัฒน์จากเจนเนอเรชั่น 3 หรือ ไปสู่เจเนอเรชั่นที่ 4 ทยอยก้าวเข้ามาเรียนรู้และมีบทบาทร่วมกับเจเนอเรชั่นที่ 3 อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การกำกับดูแลระดับนโยบายและทิศทางของกลุ่มโดยเจเนอเรชั่นที่ 2 เพื่อเป็นกองหนุนนำธุรกิจในเครือให้เติบโตอย่างมั่นคงและอยู่รอดได้ โดยเฉพาะเมื่อมีแรงกระเพื่อมภัยจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งในเวทีโลก หรือปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจ เหตุการณ์ไม่ปกติ และภัยพิบัติต่างๆ ที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องนับจากนี้
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น: