ซื้อบ้านเฮอีกไฟเขียวปรับเงื่อนไขใหม่ใช้สิทธิใน 5 ปี

ซื้อบ้านเฮอีกไฟเขียวปรับเงื่อนไขใหม่ใช้สิทธิใน 5 ปี คนซื้อบ้านเฮเพิ่ม รัฐบาลไฟเขียวเปลี่ยนเงื่อนไขมาตรการบ้านหลังแรกใหม่ให้นำค่าใช้จ่ายทยอยหักลบจากเงินที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้โดยตรงแทนการนำไปลดหย่อนภาษี ด้านอธิบดีกรมสรรพากรแจงรัฐสูญรายได้ 5 ปี 12,000 ล้านบาท พร้อมขยายเวลาให้ใช้สิทธิได้ใน 5 ปี สั่งคลังหามาตรการเพิ่มช่วยคนไม่เข้าเกณฑ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 14.00 น. วันที่ 27 ก.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการคืนภาษีบ้านหลังแรกแล้ว ทั้งนี้ต้องชี้แจงว่าการประชุม ครม.ครั้งที่ผ่านมา


ได้มีการนำเสนอกรอบของโครงการบ้านหลังแรก แต่ ครม.ได้ให้ไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ประชุม ครม.วันนี้ (27 ก.ย.) จึงได้มาหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องวิธีการหักภาษี ซึ่งเป็นแค่เพียงการปรับรายละเอียดในทางปฏิบัติเท่านั้น เพราะของเดิมเรียกว่าเป็นการลดหย่อนภาษี แต่ของใหม่ไม่ต้องนำไปลดหย่อน แต่หักได้โดยตรงจากเงินที่ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นการหักหลังจากที่คำนวณภาษีเสร็จแล้วในช่องสุดท้าย ซึ่งมีสิทธิใช้สิทธิได้ 5 ปี โดยอธิบดีกรมสรรพากรจะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง

เมื่อถามว่ามาตรการนี้เหมือนกับว่าเป็นการช่วยคนมีรายได้สูงมากขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เพราะมาตรการนี้ช่วยทุกกลุ่ม เราต้องการช่วยให้ผู้ที่เริ่มมีบ้านหลังแรก ตั้งแต่ 5 ล้านบาทลงไป เพื่อลดภาระด้านภาษี แต่สำหรับคนที่ทางบ้านมีเงิน แต่ต้องการตั้งตัวได้ เรามีกองทุนตั้งตัวได้ หรือการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นการช่วยฐานราก แต่สำหรับผู้ที่เริ่มจะตั้งตัว และอยากมีบ้านหลังแรก ซึ่งมาตรการนี้จะเข้าไปช่วย โดยยืนยันว่าครม.ไม่ได้ทบทวนหลักเกณฑ์ใด ๆ แต่เป็นการยืนหลักการเหมือนเดิม เพียงแต่ให้รอบคอบขึ้นในรายละเอียดการปฏิบัติ และสามารถชี้แจงประชาชนให้ชัดขึ้น

ด้าน น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบให้ชะลอการดำเนินการมาตรการบ้านหลังแรกตามมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ไว้ก่อนและเห็นชอบปรับปรุงเพิ่มเติมในรายละเอียดตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอโดยเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นจำนวนไม่เกิน 10% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีผู้มีเงินได้ต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 54-31 ธ.ค. 55 ซึ่งการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้สามารถดำเนินการได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ แต่ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบในรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง

“เดิมมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ก.ย. เห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายเสมือนเป็นค่าลดหย่อน สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย”รองโฆษกฯกล่าวและว่า นอกจากนี้นายกฯยังสั่งการให้กระทรวงการคลังไปหามาตรการเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เสียภาษีโดยเร็วและให้นำมาเสนอต่อ ครม.ในสัปดาห์หน้า

ขณะที่นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การให้นำค่าใช้จ่ายมาหักเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภายในสิ้นปีแทนการนำไปลดหย่อนภาษีนั้นจะทำให้คนที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกได้รับสิทธิทางภาษีเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าการนำไปคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษี คาดว่ากรมสรรพากรจะสูญเสียรายได้ทั้งโครงการประมาณ 12,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิจาก 2 ปี เป็น 5 ปีอีกด้วย

ส่วน นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึง ครม.ที่อนุมัติมาตรการบ้านหลังแรกใหม่โดยเปลี่ยนวิธีการหักภาษี ให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านมาหักลดภาษีที่ต้องจ่ายได้ จากเดิมใช้วิธีลดหย่อนภาษีว่า มาตรการทางภาษีจะมีผลต่อกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเป็นหลัก ที่หากมีรายได้สูงก็จะต้องเสียภาษีสูงจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มาก แตกต่างจากคนที่มีรายได้น้อยก็จะไม่ได้รับผลดีเพราะจะเสียภาษีให้ภาครัฐต่ำอยู่แล้ว จึงเห็นว่ามาตรการใหม่นี้ไม่มีผลต่อตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์ และไม่ได้ช่วยคนที่มีรายได้น้อยให้สามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น

ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มาตรการบ้านหลังแรกที่ ครม. อนุมัติออกมาครอบคลุมจนถึงบ้านมือสองนั้น เป็นประโยชน์ต่อคนที่ต้องการซื้อบ้านมือสองมาก แต่การที่รัฐบาลปรับเกณฑ์การลดหย่อนภาษี ไปเป็นการหักภาษีได้ทั้งจำนวนนั้น เห็นว่าไม่เป็นผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด เพราะมีประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่จะได้รับการหักภาษีได้สูงสุด เพราะหากเสียภาษีในจำนวนสูงก็จะยิ่งได้รับการหักภาษีสูงตามไปด้วย ดังนั้น คนที่ได้รับผลดีจะอยู่เพียงกลุ่มที่มีฐานะและมีเงินเดือนสูงเท่านั้น แตกต่างจากคนที่มีรายได้ต่ำก็ไม่ได้รับประโยชน์เลย ถือว่ามาตรการในครั้งนี้เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ส่วนแนวทางที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐพิจารณาคือ การลดหย่อนภาษีนั้น ควรระบุว่า ลดหย่อนได้สูงสุดเท่าใด ให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มไม่ว่าจะซื้อบ้านในราคาเท่าใด ก็จะได้รับสิทธิลดหย่อนเท่ากันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม.
ที่มาเดลิินิวส์



ไม่มีความคิดเห็น: