ไขข้อข้องใจ...เรื่องการลงทุนทองคำผ่านกองทุนรวม

โดยสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล
       บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)
ไขข้อข้องใจ...เรื่องการลงทุนทองคำผ่านกองทุนรวม
เมื่อเร็วๆ นี้หลายท่านคงจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับกองทุนทองคำที่มีการลงทุนในตลาดสิงคโปร์กันมาบ้างแล้ว กับเหตุการณ์ที่วันหนึ่งราคา NAV ของกองทุนทองคำเกิดผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นอย่างมาก สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนที่ลงทุนวันนั้นได้ต้นทุนการลงทุนที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคิดว่าหลายๆคนอาจเกิดความกลัวที่จะลงทุนในกองทุนรวมทองคำ และที่ถือลงทุนอยู่ควรทำอย่างไร เราจะมาไขข้อสงสัย กลไกการลงทุนของกองทุนทองคำในไทย เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนหรือหันไปหาทางเลือกอื่น และเช่นเดียวกับทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เราจะมาเริ่มกันด้วยภาพรวม และความน่าสนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำกันก่อนนะครับ

เช่นเดียวกับหลายๆปีที่ผ่านมา ทองคำยังคงเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงกันอย่างมาก ด้วยราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 12 ปี ที่ผ่านมา


และเราเชื่อว่า ราคาทองคำก็ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องกันไปอีกหลายปี ด้วยเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่ว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเกิดวิกฤติ หรือว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ใช้สู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า มาตรการต่างๆ ทั้งจากสหรัฐก็ดี หรือว่ายุโรปเอง ต่างผ่อนคลายนโยบายการเงิน คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปอีกหลายปี และการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินอย่างมหาศาล รวมถึงแนวโน้มที่จะมีมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผลของมาตรการเหล่านี้จะทำให้ค่าเงินโดยเฉพาะดอลล่าร์สหรัฐ ยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงในระยะยาว และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน นอกจากนี้หลังวิกฤตการการเงินในสหรัฐ เราจะเห็นได้ว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศตลาดเกิดใหม่ มีความต้องการที่จะเข้าสะสมทองคำเพิ่มขึ้น จนทำให้การซื้อขายสุทธิของธนาคารกลางพลิกกลับมาเป็นบวก (ซื้อสุทธิ) หลังจากที่ติดลบ (ขายสุทธิ) กันมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทำให้เราเชื่อว่าราคาทองคำในระยะยาวมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะเห็นการขายทำกำไรออกมาหลังจากราคาทองคำได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่นั่นก็เป็นจังหวะที่ดีที่เราจะได้สะสมลงทุนทองคำกัน

มาถึงตรงนี้ ความน่าสนใจลงทุนในทองคำยังไม่ได้จางหายไป หลายปีที่ผ่านมามีทางเลือกในการลงทุนทองคำเพิ่มขึ้นมากมายหนึ่งในนั้นคือ กองทุนรวมทองคำที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความหลากหลายที่กองทุนรวมสามารถออกแบบการลงทุนในทองคำให้เข้าถึงความต้องการของนักลงทุน อย่างไรก็ตามจากข่าวที่เราได้กล่าวกันไว้ในตอนต้นก็ทำให้การลงทุนในกองทุนทองคำมีคำถามที่ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจเกิดขึ้น

แต่ก่อนอื่น สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนกองทุนทองคำ คงต้องทำความรู้จักกับ SPDR Gold Trust กันก่อน ซึ่ง SPDR Gold Trust นี้เป็นกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณปัจจุบัน ด้วยจำนวนทองคำแท่งภายใต้การบริหารของ SPDR ถึง 1,281.59 ตัน (ณ วันที่ 22 ก.พ. 2555) จดทะเบียนทำการซื้อขายอยู่ใน4 ตลาดสำคัญๆ ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทุนรวมทองคำในประเทศส่วนใหญ่ (ยกเว้นกองทุนทองคำT-GoldBullion ของ บลจ.ธนชาต) เลือกใช้ SPDR Gold Trust เป็นกองทุนหลัก (Master Fund) และปัญหาที่เกิดขึ้นก็อยู่ตรงจุดนี้เช่นกันเมื่อกองทุนรวมทองคำไทยลงทุนผ่าน SPDR Gold Trust ดังนั้น การคำนวน NAV ของกองทุนรวมทองคำไทยจึงต้องใช้ราคาปิดของกองทุน ETF SPDR Gold Trust ในแต่ละตลาดที่กองทุนฯลงทุนอยู่ ไม่ใช่ราคาทองคำแท่ง ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ราคาปิดของ ETF ทองคำนี้จะเกิดผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นได้ และหากสภาพคล่องในตลาดนั้นๆ มีน้อยอยู่แล้ว ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้โอกาสผิดเพี้ยนสูงขึ้นไปอีก

ดังจะเห็นได้จากกองทุนรวมทองคำที่ลงทุนในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งมีส่วนผสมของสภาพคล่องต่ำกว่าตลาดอื่นๆ มีโอกาสเกิดนี้บ่อยกว่าและนับตั้งแต่มีกองทุนรวมทองคำในไทยก็เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งในปีที่แล้ว (ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 54 และอีกครั้งในวันสุดท้ายของปี 54)แม้ว่าจะฟังดูน่ากลัวสำหรับนักลงทุน แต่จริงๆ แล้วหากไม่ได้มีการซื้อหรือขายกองทุนรวมทองคำไทยในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติของราคาปิด ก็แทบจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และด้วยกลไกของ ETF เหตุการณ์นี้จะคงอยู่เพียงชั่วคราว และจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็วในวันรุ่งขึ้น ดังนั้น นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จากเหตุการณ์นี้มี 2 กลุ่มด้วยกันคือ

1) นักลงทุนที่ลงทุนในวันที่เกิดเหตุนั้น ซึ่งจะได้ต้นทุนที่แพงกว่าที่ควร และ

2) นักลงทุนที่เห็นราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก และคิดจะขายทำกำไรในวันถัดมาอาจไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่คิด ซึ่งกลุ่มที่ 2. นั้นป้องกันได้ไม่ยากเพียงแต่รู้เท่าทันและเข้าใจว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นก็จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ยาก

แต่ในส่วนกลุ่มที่ 1. นั้นคงต้องรีบหาทางแก้ไข เพราะเหตุการณ์ผิดปกติของราคาปิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าซึ่งทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กำลังดำเนินการหาแนวทางแก้ไขกันอยู่ และคงจะมีความคืบหน้าในไม่ช้านี้

ทั้งนี้ในระหว่างที่เรากำลังรอแนวทางแก้ปัญหากันอยู่นั้น การลงทุนไม่สามารถหยุดรอได้ กองทุนรวมทองคำในไทยก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้ ด้วยความหลากหลายของกองทุนรวมทองคำ นักลงทุนที่ไม่ไว้วางใจ หรือไม่อยากเผชิญเสี่ยงในเรื่องนี้สามารถเลือกลงทุนกับกองทุนรวมที่ไม่ได้ลงทุนผ่านกองทุน SPDR Gold Trust ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติของราคา ETFโดยมีกองทุน T-Goldbullion ของ บลจ. ธนชาต ที่ลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงผ่านตลาดทองคำในประเทศฮ่องกง

นอกจากนี้ กองทุนยังมีทางเลือกทั้งกองทุนทองคำที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (T-Goldbullion-UH) และกองทุนทองคำที่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (T-Goldbullion-H) รวมถึงกองทุนทองคำที่เป็น RMF ได้แก่ T-GoldRMF-UH และ T-GoldRMF-H นอกจากนี้ นักลงทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนอย่างรวดเร็ว (T+1) หลังทำการขายคืนกองทุนนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนกองทุนทองคำอื่นๆ อยู่ก่อนหน้าแล้วอย่าเพิ่งตกใจเกินไป เราไม่คิดว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องย้ายออกจากกองทุนที่ถืออยู่ เพราะการย้ายกองทุนจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการสับเปลี่ยนซึ่งตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เราเสียโอกาสในการลงทุนได้ นอกจากนี้อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าแล้วว่านักลงทุนที่ถืออยู่เดิมนั้นแทบจะไม่ได้รับผลกระทบหรือรู้สึกอะไรเลยจากความผิดปกติของราคาปิดดังกล่าว มีเพียงแค่เห็นราคา NAV ของกองทุนทองคำที่ถืออยู่ปรับตัวอย่างผิดปกติเพียงแค่วันเกิดเหตุเท่านั้น และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในวันถัดไป ดังนั้นผมจึงมั่นใจว่าการลงทุนทองคำผ่านกองทุนรวมจึงยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจด้วยความหลากหลายที่ การลงทุนในทองคำแบบอื่นๆ ให้ไม่ได้ อย่างเช่นการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และถึงแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่เราเชื่อว่า เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินกว่าที่จะจัดการได้ เราก็หวังว่าจะได้เห็นข้อสรุปถึงแนวทางการแก้ไขเพื่อปกป้องผู้ลงทุนได้ในไม่ช้านี้ หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมเราคงจะได้กลับมาคุยถึงประเด็นนี้กันอีกครั้ง
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์





2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หากท่านเป็นนักลงทุนไทยที่ซื้อกองทุนทองคำ ผ่าน บลจ ต่าง ๆ ทุกแห่ง วันที่ 30 ธันวาคม 2554 ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านอาจจะจ่ายค่าหน่วยลงทุนทองคำสูงกว่า ราคาทองคำจริง ๆ เกือบ 10%....เช่น ราคาทองคำจริง 23400 บาท/ ทองคำหนัก 1 บาท ท่านอาจจะเสียเงินซื้อกองทุนทองคำวันนั้นแพงกว่า เมื่อเทียบกับทองคำจริง เกือบ 2340 บาท/ ทองคำหนัก 1 บาท.....หากท่านต้องการเรียกร้องเงิน ส่วนนั้นคืน กรุณาติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อร่วมเจรจากับ บลจ ต่าง ๆ วันที่ 16 พค 55 นี้ ดาวน์โหลดใบร่วมเจรจาได้ที่

http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=article&id=2223:2012-05-08-06-49-45&catid=20:2008-12-15-07-09-10&Itemid=67

MIKI กล่าวว่า...

หากคุณเป็นคนนึงที่สนใจอยากลงทุนในทองคำ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือผ่านกองทุนรวม สามารถเช็ค ราคาทองคำออนไลน์แบบ real time ได้ที่ http://www.dchai9gold.com/ ค่ะ