เศรษฐกิจไทยวันนี้เหมือนคน'ไข้ขึ้น'

การประกาศปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงมา 0.5% ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จาก 3.5-4.5% เหลือเพียง 3.5-4% นั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมควรให้ความสนใจ

เพราะ สศช.กล้าออกมาฟันธงว่า เศรษฐกิจปีนี้คงโตได้เต็มที่แค่ 4% โดยไม่รอที่จะประเมินผลบวกหรือลบจากนโยบายของรัฐบาลปูยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาประกอบ
คล้อยหลังจากนั้น ซิตี้กรุ๊ป ก็ได้ประกาศปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงพรวดพราด จากที่เคยประเมินไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3.6% เหลือเพียง 2.7% ขนาดเศรษฐกิจหายไปถึง 0.9%


ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้น ซิตี้กรุ๊ป คาด ว่าจะขยายตัวได้แค่ 3.5% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า จะเติบโตถึง 5% ขนาดเศรษฐกิจลดลงถึง 1.5%

ภาพดังกล่าวนั้นกระเทือนต่อไทยไม่น้อย เพราะปริมาณเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบจากขนาดของเศรษฐกิจที่หดตัวลงนั้นมหาศาล

คิดคร่าวๆ กันได้ ถ้าหดตัวน้อยสุดก็ตกประมาณ 5.4 แสนล้านบาท

ถ้าหดตัวหนักกว่านั้น ปริมาณเม็ดเงินที่มาหมุนในระบบหายวับไปทันที 1.62 ล้านล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวคิดจากขนาดเศรษฐกิจของไทยที่มีอยู่ทั้งสิ้นในปัจจุบัน 10.86 ล้านล้านบาท

เหตุผลสำคัญที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดำดิ่งลงไปมาจากปัจจัยลบหลักๆ ใน 3-4 เรื่อง สำคัญที่สุดเห็นจะเป็น “การลงทุนของภาครัฐ” ที่อ่อนแรงถึงขั้นติดลบ โดยในไตรมาส 2 ติดลบมากที่สุดในรอบหลายปี คือ ติดลบถึง 9.9% จากที่เคยติดลบ 1.4% ในไตรมาสแรก และทั้งปี 2553 ติดลบไปแล้ว 2.2%

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลดลงของการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งที่ใกล้ปิดโครงการ

แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลกระเป๋าแฟบมานาน เพราะภาระเรื่องรายจ่ายประจำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้เครื่องยนต์ คือ งบลงทุน มาเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกเลย นับตั้งแต่ที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540

ในปี 2554 สศช.จึงประมาณการว่า ยอดการลงทุนภาครัฐจะติดลบไม่น้อยกว่า 1.5%

ไม่เฉพาะภาครัฐที่ง่อยเปลี้ยเสียขาจากงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย ขณะที่ “การลงทุนภาคเอกชน” เองก็อาการสาหัส เพราะในไตรมาส 2 ขยายตัวได้เพียง 8.6% ชะลอลงจากที่ขยายตัวได้สูงถึง 12.6% ในไตรมาสแรกร่วม 4%

พิเคราะห์ในรายละเอียดลึกลงไปจะต้องอึ้ง เมื่อการลงทุนเอกชนที่ชะลอตัวนั้นเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง เครื่องจักร เครื่องมือ และการชะลอการนำเข้าสินค้าทุน โดยในครึ่งปีแรกการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวแค่ 6.6% ขณะที่ทั้งปีมีการตั้งเป้าหมายว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 8.7%

หดตัวลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.8%

สอดรับกับดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 50.4% ลดลงจาก 53.1% ในไตรมาสแรก

ขณะที่การส่งออกที่เคยเป็น “พระเอก” หรือเครื่องยนต์ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด เพราะรายได้จากการส่งออกถือเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทยถึง 70% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศกำลังสั่นคลอนจากวิกฤตเศรษฐกิจจากสหรัฐและยุโรป รวมถึงสึนามิในญี่ปุ่น ส่งผลให้ทั้งภาครัฐต้องรัดเข็มขัด ขณะที่ภาคเอกชน และประชาชนของพวกเขาต่างชะลอการบริโภคลง ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 หดตัวลงเหลือ 19.2% มียอดส่งออกแค่ 5.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 27.4%

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกไทยมีมูลค่าถึง 1.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 23.1% ซึ่งในปีนี้ สศช. ปรับลดประมาณการส่งออกเหลือ 16.5% จากปีก่อนที่การส่งออกขยายตัวได้ 28.5%

สินค้าส่งออกที่กระทบหนักๆ ได้แก่ หมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี

โชคดีที่การส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และการเจาะตลาดส่งออกในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ประเทศเกิดใหม่ ยังช่วยฉุดไม่ให้การส่งออกของประเทศดิ่งลงเร็วเกินไปนัก

นอกจากนี้ การบริโภคและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.8% ลดลงจาก 3.3% ในไตรมาสแรก เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความกังวลจากราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับตังสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น

ผลกระทบจากการหดตัวของการลงทุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และการส่งออก รวมถึงการบริโภค ในครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณอันตราย เพราะกระทบกับเครื่องยนต์ทุกตัวที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ผลที่เกิดขึ้น คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัว เพราะไม่มีการลงทุนจากผู้จ้างงาน ทั้งจากภาครัฐบาลและเอกชนผู้ส่งออกอุตสาหกรรม

แผลที่เกิดขึ้นก็คือ รายได้ของประชาชนในประเทศลดลง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ ผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทน้อยใหญ่ที่ผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่ส่งออกต่างมีออร์เดอร์ที่ลดลง วงจรธุรกิจย่อมฝืดเคือง ลูกจ้าง ประชาชนมีรายได้น้อยลง แต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้า ข้าวของแพงเป็นประวัติการณ์

หลากประเด็นเหล่านี้ ยังโดนพายุชุดใหญ่ที่มะรุมมะตุ้มจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่กำลังพัดเอาโรคร้ายมายังไทยหากไม่มีการหามาตรการรับมือ

ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของ สศช.ลงอีก 0.5% และชี้เป้าใหม่ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้ขั้นสูงสุดแค่ 4% เท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้สูงสุดถึง 4.5%

หากเศรษฐกิจหดตัวลง 0.5% เท่ากับจะมีเงินหายไปจากระบบหรือลดลงไป 5 หมื่นล้านบาท บนสมมติฐานที่เศรษฐกิจโตที่ระดับ 4% แต่โอกาสที่เศรษฐกิจที่จะโตได้ 4% ต้องอยู่บนเงื่อนไขคือ เศรษฐกิจโลกขยายตัวสูงกว่า 4% ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป

รวมถึงยังต้องเฝ้าจับตาเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะที่ลุกลามในกลุ่มประเทศยุโรป อย่างอิตาลีและสเปน และการฟื้นตัวของญี่ปุ่นที่จะมีผลต่อการส่งออก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในประเทศไทยเอง ยังต้องจับตาเรื่องของเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และสถานการณ์ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยิ่งเป็นกราฟชี้ขึ้นตามฤดูกาลที่ราคาน้ำมันจะปรับราคาสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว

และหากกรณีที่เศรษฐกิจโตได้แค่ 3.5% เพราะไม่สามารถฝ่าด่านจากปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกได้ ผลที่ตามมาคือน่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบหายไปมากถึง 1 แสนล้านบาท ที่จะส่งผลกระทบต่อคนทุกภาคส่วน

ไม่บ่อยครั้งนักที่ สศช. จะชี้โพรงด้วยการออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจเป็นอันดับแรกๆ

เพราะนั่นหมายถึง การส่งสัญญาณให้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทุกสำนัก ทั้งไทยและต่างประเทศที่เป็นคู่ค้า หรือผู้ลงทุนหลักของไทยต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยลงเช่นกัน

ทางออกที่ สศช. เสนอแนะให้รัฐบาลรีบเยียวยาอาการของ 3-4 โรคร้ายที่กำลังรุมเร้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การเร่งการลงทุนจากภาครัฐ ที่ดูว่าน่าจะมีอุปสรรคเนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2555 น่าจะสะดุด เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนถึงจะเดินหน้ารื้องบประมาณใหม่เพื่อเสนอต่อสภาได้

เพราะมีการคาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 กว่าจะทำคลอดได้ก็ลากยาวไปถึงต้นปีหน้า หรืออาจจะล่าช้ากว่าปกติไปถึงไตรมาสแรก

นั่นหมายถึงว่า เม็ดเงินงบประมาณโดยเฉพาะเงินลงทุน รายจ่ายอื่นๆ ของรัฐจะเบิกช้าลง เงินลงไปในระบบลดลงนั้นกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจไทยไม่น้อย

ดังนั้น ในระหว่างที่รอการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่รัฐบาลควรงัดทุกกลยุทธ์ในการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 2555 หรือปลายปีนี้เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ทั้ง 3 เครื่อง คือ “ลงทุนภาครัฐ-ลงทุนภาคเอกชน-การบริโภค” สะดุดหกล้ม

เพราะถ้าไม่เร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ เชื่อว่ามีโอกาสที่เครื่องยนต์ใดเครื่องยนต์หนึ่งอาจจะดับมีสูงยิ่ง

ดังนั้น ทางรอดของรัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในประเทศ ทั้งภาคเกษตรและเอสเอ็มอีที่เป็นฐานใหญ่ของประเทศเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 40 ล้านคน

พัฒนาผลิตภาพสินค้าเกษตรและเอสเอ็มอีให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการลดต้นทุนด้วยการลงทุนด้านโลจิสติกส์ การป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ เพื่อช่วยให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นมากระตุ้นการบริโภคของประชาชน

แต่อย่ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งรัดให้สถาบันการเงินเร่งปล่อยกู้มากๆ ผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาล เช่นที่ผ่านๆ มาเป็น 10 ปี จะเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจากภายในประเทศ

นี่คือเกราะคุ้มกันภัยจากสัญญาณอันตรายที่กำลังรุมเร้าเศรษฐกิจไทยไม่ให้ดิ่งลงเหวอย่างที่หวั่นเกรงกัน

หลังจากนี้ ก็อยู่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และทีมเศรษฐกิจจะหามาตรการมาเยียวยา ก่อนที่อาการไข้จะลุกลามขยายวงออกไปมากกว่านี้
ที่มา Post Today

ไม่มีความคิดเห็น: