เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์
เปิดเผยการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท และปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท
“ไม่ต้องการให้ภาคธุรกิจกังวลกับนโยบายมากไป เพราะหลังจากที่แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาเสร็จสิ้นภาพทั้งหมดจะชัดเจนทั้งการปรับลดภาษีนิติบุคคล และการยกเลิกกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการทุกรายจะได้ประโยชน์จากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับการปรับค่าจ้างขึ้นมา ทั้งนี้แม้การปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่เชื่อว่าการได้รับส่วนลดจากมาตรการภาษี และราคาน้ำมันถูกลงจะช่วยชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อีกทาง ดังนั้นเมื่อปรับขึ้นค่าจ้างแล้วอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่อยากเห็นต่อมาคือให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทบทวนนโยบายดอกเบี้ยภายในประเทศไม่ให้สูงขึ้นเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่สูงขึ้นตาม” นายกิตติรัตน์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเอสเอ็มอีที่เสียภาษีไหวแต่ไม่ยอมเสียภาษี กลุ่มนี้รัฐบาลจะบังคับให้กลับมาเสียภาษีจากมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือ เพราะการเสียภาษีจะช่วยในเรื่องความน่าเชื่อถือของธุรกิจต่อระบบธนาคารดีขึ้น ส่วนอีกกลุ่มคือเอสเอ็ม อีที่เสียภาษีไม่ไหว จะแบ่งความช่วยเหลือ 3 ด้าน คือ รัฐจะผลักดันให้มีการทบทวนการจ้างแรงงานว่าคุ้มกับประสิทธิภาพการทำงานหรือไม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธุรกิจมีอนาคต แต่ที่ผ่านมาการเพิ่มประสิทธิภาพด้านผลผลิตอาจไม่ถูกทาง ดังนั้นต้องเพิ่มขีดความสามารถให้ ต่อมาจะให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม และจัดหาเครื่องจักรให้ ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังดำเนินการในส่วนนี้ โดยอาจช่วยเหลือสภาพคล่องให้ธุรกิจเพื่อนำเข้าเครื่องจักรมาผลิต และสุดท้ายกลุ่มที่เพิ่มประสิทธิภาพไม่ได้ อาจต้องยอมรับความจริงที่จะลดกำลังการผลิต หยุดกำลังการผลิต ไปจนถึงเปลี่ยนไปประกอบธุรกิจอื่น ซึ่งกลุ่มนี้ควรต้องทบทวนตัวเองหลังจากที่รัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาลควรมีท่าทีผ่อนปรน ให้บางส่วนที่พร้อมนำร่องไปก่อน ส่วนที่ยังไม่พร้อมก็ให้ทยอยปรับขึ้น ผ่านการพิจารณาของไตรภาคี โดยภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจำเป็นต้องเดินอย่างระวัง ไม่ควรทำประชาชนนิยมมากไป เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายในเศรษฐกิจระยะยาวได้ รัฐต้องคำนึงถึงนโยบายการกระตุ้นกำลังซื้อ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ในระยะยาว มีจีดีพีขยายตัวสอดคล้องกับสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น
วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการซื้อขายทองคำในประเทศว่า เป็นไปอย่างผันผวนตลอดทั้งวันมีการปรับราคาขึ้นลงรวม 10 ครั้ง ซึ่งปรับขึ้นมากถึง 7 ครั้ง รวม 600 บาท และลดลง 3 ครั้ง 200 บาท ทำให้การซื้อขายสุทธิเพิ่มขึ้น 400 บาท ส่งผลให้ราคาทองคำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (นิวไฮ) อีกครั้ง โดยทองรูปพรรณรับซื้อ 26,120.68 บาท ขายออก 27,000 บาท ส่วนราคาทองคำแท่งรับซื้อ 26,500 บาท ขายออก 26,600 บาท
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 35.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือทำสถิติใหม่ที่ 1,823.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป ที่มีโอกาสชะลอตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นทิ้ง และวิ่งกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สมาคมฯ เชื่อว่าราคาทองคำในตลาดโลกมีโอกาสปรับสูงขึ้นถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 30,000 บาท
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการรับมอบทองคำแท่ง ตามโครงการช่วยชาติ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 54 ถึงพระสุดใจ ทันตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ว่า ธปท. ได้ชั่งน้ำหนักทองคำแท่งเพื่อนำไปวิเคราะห์หาค่าความบริสุทธิ์ ตามมาตรฐานการขึ้นทะเบียนทองคำของ ธปท. แล้วโดยการดำเนินการดังกล่าวได้สูญเสียน้ำหนักทองคำไปบางส่วน คงเหลือน้ำหนักทองคำแท่งเทียบค่าความบริสุทธิ์ที่บริจาคครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เหลือทั้งสิ้น 920 กิโลกรัม นำเข้าคลังหลวงในบัญชีสำรองพิเศษของทุนสำรองเงินตรา ส่งผลให้สินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษ มีค่าเพิ่มขึ้นถึง 1,334.203 ล้านบาท สำหรับการบริจาคทองคำเข้าโครงการดังกล่าว รวม 16 ครั้ง มียอดรวมทั้งสิ้น 13,000 กรัม หรือ 13 ตัน
ส่วนบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีแกว่งตัวผันผวนและอ่อนตัวในแดนลบตลอดการซื้อขาย หลังได้รับปัจจัยลบจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/54 ของไทยที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศบางแห่งที่ปรับลดลง หลังนักลงทุนยังกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จึงแห่เทขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และหันไปลงทุนทองคำแทน ส่งผลให้ระหว่างวันดัชนีหุ้นไทยลดลงแรงกว่า 17 จุด ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาปิดตลาดที่ 1,067.84 จุด ลดลง 1.36 จุด หรือ 0.13% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 34,168.14 ล้านบาท.
ที่มาเดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น