ข่าวการเปิดตัวร้านค้าชอปปิ้งมอลล์ครั้งแรกในอังกฤษที่มีชื่อเรียกว่าเป็น Pop-up Mall และเตรียมขยายธุรกิจออกไปยังประเภทอื่นๆ ในยุโรปตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป กลายเป็นหนึ่งในข่าวที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ไม่อยากตกเทรนด์ทางการตลาด
หลายคนถามถึงความหมายและรูปแบบของ Pop-up Mall ว่าดำเนินงานอย่างไร และผู้ซื้อจะเข้าไปซื้อได้ต้องทำอย่างไร
กรณีของร้านค้าปลีก ชื่อ Boxpark เป็นตัวอย่างที่ดีของร้านค้าแบบ Pop-up Mall ที่ปัจจุบันมีการเปิดกิจการดำเนินงานอยู่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เป็นร้านแรกของ Boxpark ในอังกฤษตามข่าวที่ออกมา โดยร้านนี้โฆษณาตัวเองว่าเป็นร้านค้าแบบ Pop-up Mall แห่งแรกของโลกด้วย
ร้านค้าปลีก Boxpark ที่ทำการค้าแบบ Pop-up Mall ได้รวบรวมยี่ห้อของสินค้าที่เรียกกันว่า Streetwear รวมทั้งแบรนด์ Abuze และแบรนด์ Boxfresh และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เป็นกลุ่มสปอร์ตแวร์มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ไนกี้ พูม่า ลาคอสท์ ไลว์ เป็นต้น
ปัจจุบัน ร้านค้าปลีก Pop-up Mall แห่งนี้เป็นสถานที่วางจำหน่ายสินค้ามากกว่า 60 แบรนด์แล้ว โดยมีสถานที่จำหน่ายเป็นเพียงอาคารชั้นเดียวแบบง่ายๆ และพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายร้านออกไปตั้งในพื้นที่อื่นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ตามแผนงานของร้าน Pop-up Mall แห่งนี้จะตั้งดำเนินกิจการที่ย่านดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 ปีก็ตาม
การกำเนิดและเติบโตของร้านค้าปลีกแบบ Pop-up Mall นี้ แสดงถึงสภาพหลายมิติ
ประการแรก เป็นความพยายามอีกทางหนึ่งของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกในการแสวงหาแนวทางดึงดูดลูกค้าในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากในแบบเดิมๆ
ประการที่สอง เป็นช่องทางการตลาดที่นักออกแบบสินค้าระดับบนสนใจ และไม่ถือว่าเสื่อมเสียภาพลักษณ์และชื่อเสียง หากจะมาจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้า Pop-up Mall แทนซูเปอร์สโตร์หรูในย่านคนร่ำรวย
ด้วยเหตุนี้ เจ้าของแบรนด์ต่างๆ จึงนับวันจะเพิ่มจำนวนและวิ่งเข้าไปหาร้านค้า Pop-up Mall นี้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่แบรนด์ดังจากฝรั่งเศสอย่าง คริสเตียน ดิออร์ ก็ตัดสินใจเปิดร้านค้าของตนในรูปแบบของ Pop-up Mall ที่ไมอามีเป็นแห่งแรกแล้ว โดยเป็นความร่วมมือกับศิลปินชื่อ Amselm Reyle ในชื่อโปรเจกต์ว่า Art Basel Show
ร้าน Pop-up Mall นี้เป็นช่องทางใหม่สำหรับการจำหน่ายคอลเลกชั่นสินค้าจากหนัง เครื่องประดับ และเมกอัพ
นอกจากนั้น กิจการค้าปลีกรายใหญ่บนตลาดออนไลน์อย่าง อีเบย์ eBay ก็ยังยอมรับว่าแนวโน้มของการเปิดร้านค้าแบบ Pop-up Mall น่าสนใจและน่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้าเป้าหมาย โดยลูกค้าสามารถเข้าไปในระบบออนไลน์เพื่อตรวจสอบรายการสินค้าที่ร้าน Pop-up Mall ของอีเบย์ ก่อนที่จะสแกนโค้ดสินค้าไว้ และนำโค้ดไปสั่งซื้อสินค้าได้บนเว็บเพจ
นอกจากอีเบย์แล้ว ร้านค้าปลีกรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งคือ อะเมซอนดอทคอม ที่วางเป้าหมายให้ลูกค้าเข้าไปชอปปิ้งกันในช่วงหยุดเทศกาลปลายปี ก็ได้เอาแนวคิดของการเปิดร้านค้าแบบ Pop-up Mall มาผสมผสานกับการจำหน่ายสินค้าบนตลาดออนไลน์ของตน เพื่อบรรเทาความคับคั่งของการเข้าไปใช้บริการพร้อมๆ กันทางเว็บเพจอย่างเดียว
โดยในส่วนของอีเบย์ที่จะเปิดร้านค้า Pop-up Mall นี้มีนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และลอนดอน ให้ลูกค้าทำการสแกนบาร์โค้ดและซื้อสินค้าได้ทันที ไม่ต้องรอจัดส่ง โดยใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่แล้ว
บริษัทวิจัยชื่อ Forrester Research ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า หากผู้ซื้อไม่ได้มีรายการซื้อมากมายและมีงบประมาณในการจัดซื้อที่จำกัด ร้านค้าปลีกแบบ Pop-up Mall น่าจะเหมาะสมกับพฤติกรรมการซื้อของคนกลุ่มนี้
ที่ผ่านมา การสำรวจพบว่า ร้านค้าปลีกแบบออนไลน์เริ่มมีความได้เปรียบและลดสัดส่วนทางการตลาดของร้านค้าปลีกแบบติดกับดินลงไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความได้เปรียบในการนำเสนอสินค้าที่มากมาย หลากหลายกว่าร้านค้าติดดิน และต้นทุนการดำเนินงานก็ต่ำกว่า ทำให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมอยู่รอดได้ยาก
นอกจากนั้น ร้านค้าปลีกออนไลน์อย่างอะเมซอนหรืออีเบย์ยังมีความได้เปรียบจากปัจจัยสนับสนุนอื่น เช่นการที่ลูกค้าใช้แท็บเลตอย่างไอแพดในการชอปปิ้งและค้นหาข้อมูลสินค้าที่ต้องการซื้อทางออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย
แต่ร้านค้าแบบ Pop-up Mall ใช้จุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าได้กลับมาสัมผัส จับต้องสินค้าจริงๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ร้านค้าปลีกออนไลน์ทั้งสองรายนี้ยอมรับ และหันกลับมาปิดช่องว่างทางธุรกิจด้วยการเปิดร้านค้าปลีกแบบ Pop-up Mall ของตนเองขึ้นมามากขึ้นในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น