มีการศึกษามากมายที่พยายามสร้างแนวทางการพัฒนากิจการสู่โมเดลที่สอดคล้องกับดิจิตอลเทคโนโลยี รวมทั้งการทำงานร่วมกันของ MIT Center for Digital Business กับ Capgemini Consulting เมื่อไม่นานมานี้
การศึกษาดังกล่าวที่มีชื่อว่า Digital Transformation: A Roadmap for Billion-Dollar Organizations ชี้ว่า การแปลงโฉมธุรกิจสู่โลกการตลาดดิจิตอล เป็นไปเพื่อใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตอล ในการปรับปรุงผลประกอบการ และบรรลุเป้าหมายของธุรกิจ
แต่จากการศึกษาวิจัยดังกล่าวระบุว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของกิจการระดับโลกที่มีโปรแกรมการแปลงโฉมธุรกิจสู่ดิจิตอลที่มีประสิทธิผลในภาคปฏิบัติและถือว่าประสบความสำเร็จ
นั่นหมายความว่า จริงๆ แล้ว กิจการส่วนใหญ่ในโลกยังไม่ได้รับประโยชน์หรือไม่สามารถแสวงหาประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างที่มีการคาดหมายกันเอาไว้ ทั้งที่ได้มีการแปลงโฉมกิจการสู่เทคโนโลยีดิจิตอลแล้วก็ตาม
ทั้งนี้เพราะลูกค้ายังไม่ได้ซาบซึ้งกับประสบการณ์การใช้สินค้าและบริการแบบดิจิตอล ผู้คนยังไม่ได้มีการตอบโต้กับผู้ประกอบการในการนำเสนอบริการแนวดิจิตอลมากนัก
ผลการสำรวจผู้บริหารระดับสูง 157 รายจาก 15 ประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจในระดับโลกด้วยมูลค่าการจำหน่ายรวมกันกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า
ประการแรก กระบวนการแปลงโฉมกิจการสู่ความเป็นกิจการดิจิตอล มีความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ไม่ราบรื่นและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลให้แต่ละกิจการมีประสบการณ์ในความสำเร็จที่แตกต่างกัน
ประการที่สอง ขั้นตอนในการแปลงโฉมกิจการของแต่ละผู้ประกอบการออกมาแตกต่างกัน โดยมีการพิจารณาใน 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 เป็นการพิจารณาว่าจะทำสิ่งใดบ้าง เพื่อกำหนดองค์ประกอบของการแปลงโฉม และประเด็นที่ต้องลงทุนเพิ่มเติม ในด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ การให้บริการแก่ลูกค้า และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร
มิติที่ 2 เป็นการพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เป็นการเลือกวิธีการผลักดันเพื่อการแปลงโฉมหน้าธุรกิจของกิจการ การกำกับโครงการแปลงโฉม การมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร และกลไกการประเมินผลการแปลงโฉม
ประการที่สาม ประสบการณ์ในการแปลงโฉมกิจการที่เกิดขึ้นแล้วในผู้ประกอบการต่างๆ แบ่งออกได้ 4 ระดับด้วยกัน ระดับแรกคือระดับเริ่มต้น Digital beginners ยังมีการดำเนินการน้อยมากในการเสริมศักยภาพด้านดิจิตอล อาจจะมีเพียงดิจิตอลแบบดั้งเดิม อย่างเช่น อีเมล หรืออีอาร์พี หรือมีการใช้ประโยชน์จากการบริหารข้อมูลบนระบบดิจิตอลที่พัฒนาขึ้น
ระดับที่สอง การทำดิจิตอลตามแฟชั่น Fashionista เป็นกลุ่มที่มีการใช้เครื่องมือดิจิตอล ที่เริ่มสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่กับทุกกิจการที่อยู่ในระดับนี้ กิจการกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะแปลงโฉมกิจการตนเองสู่ความเป็นองค์กรดิจิตอล แต่ยังไม่มีการสร้างนโยบายหรือวางกรอบแนวทางการพัฒนากระบวนการสู่เป้าประสงค์ดังกล่าวอย่างชัดเจน และยังไม่เป็นรูปธรรม และรู้ตัวดีว่ายังจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิตอลให้มากขึ้น
ระดับที่สาม เรียกว่า ดิจิตอลในระดับระมัดระวัง หรือ Digital Conservatives เป็นกลุ่มกิจการที่มีความเข้าใจในความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องแปลงโฉมกิจการ การสร้างการกำกับกิจการแบบดิจิตอล และการดึงบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมการแปลงโฉม เพื่อประกันว่าการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลในกิจการได้ผลสำเร็จ เป็นกิจการที่มีความเข้าใจเป้าหมายปลายทางของกิจการดี และดำเนินกระบวนการแปลงโฉมอย่างระมัดระวัง ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด ซึ่งหากช้าไปหรือระมัดระวังมากไปอาจจะพลาดโอกาสทางธุรกิจ และไม่สามารถตามคู่แข่งที่ก้าวไปอย่างรวดเร็วได้ทัน
ระดับที่สี่ เป็นกิจการที่รอบรู้และมีความเฉลียวฉลาดในการแปลงโฉมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่กิจการ และสอดคล้องกับความท้าทายของเทคโนโลยีดิจิตอลที่ยังคงเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการสร้างโปรแกรมการแปลงโฉมธุรกิจที่มีองคาพยพที่เพียงพอในการผลักดันกิจการสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีดิจิตอล พร้อมด้วยการลงทุนที่เพียงพอ และการปลูกฝังอารยธรรมเทคโนโลยีดิจิตอลในกิจการ
การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ และช่องทางโมบาย ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการแปลงโฉมกิจการไปสู่องค์กรดิจิตอล ที่หนทางข้างหน้ายังยาวไกล ที่สำคัญ การศึกษาดังกล่าวเตือนว่ากิจการต้องพิจารณาปัจจัยภายนอกกิจการ ไม่ใช่มองแต่ศักยภาพและความพร้อมภายในกิจการเท่านั้น
ปัจจัยภายนอกที่มาเป็นอันดับแรกคือ การเคลื่อนไหวของกิจการคู่แข่งขัน การตอบรับและพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องปรับตัวตามกิจการว่าจะยอมตามมาที่เส้นทางดิจิตอลด้วยหรือไม่
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น