"กคช."ตะลุยทำบ้านผู้มีรายได้น้อย ปี"55รื้อค่าเช่า-ตัดขายที่ดินพันไร่-คุมต้นทุนก่อสร้าง

บ้านผู้มีรายได้น้อย ปี"55 กคช.กางแผนปี"55 พัฒนาบ้านเอื้ออาทรที่มีศักยภาพสูง 29 โครงการ เตรียมประกาศขายทอดตลาดที่ดินเปล่า 21 พื้นที่ทั่วประเทศ 1,000 ไร่ คาดมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ปรับปรุงระบบก่อสร้างจาก 30 ระบบให้เหลือมาตรฐานไม่เกิน 2 ระบบ ตั้งศูนย์บริหารสินเชื่อและหนี้ ดูแลเช่าซื้อบ้านผู้มีรายได้น้อย หลังแบกภาระ ซื้อคืนบ้านเอื้อฯ จากสถาบันการเงิน ปีละ 3,000 ล้านบาท ควบคู่จัดระเบียบอาคารเช่าทั่วประเทศ 50,000 ยูนิต ดึงค่าเช่าเท่ากับราคาตลาดผันรายได้เข้าองค์กร นำร่องปรับค่าเช่า "พระราม 4"


นายวิฑูรย์ เจียสกุล ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากนโยบายรัฐบาลใหม่ที่เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย กคช.ได้มีการปรับแผนลงทุนโครงการรองรับ โดยปีงบประมาณ 2555 นี้ กคช.วางแนวทางดำเนินการผ่าน 2 นโยบายหลัก ประกอบด้วยการขับเคลื่อนโครงการเคหะชุมชน (บ้านเอื้ออาทร) 29 โครงการ กับการปรับโครงสร้างธุรกิจขององค์กร

สำหรับโครงการเคหะชุมชน นายวิฑูรย์กล่าวว่า เป็นแผนลงทุนที่วางไว้ก่อนหน้าการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ทั้ง 29 โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิมที่จัดอยู่ในกลุ่มโครงการมีศักยภาพสูง จำนวน 67 โครงการ ทำเลอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด รวมประมาณ 4,500 ยูนิต กคช.ดึงมาทำก่อนในปี 2555 จำนวน 29 โครงการ

ขณะเดียวกันโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิม มีกลุ่มโครงการที่ด้อยศักยภาพอีกจำนวน 76 โครงการ รวมกับแลนด์แบงก์ที่ กคช.ถืออยู่ในมือและประเมินว่าไม่มีศักยภาพด้านการลงทุนที่อยู่อาศัย ก็จะนำมาขายทอดตลาดเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับองค์กร

โดย กคช.เตรียมประกาศขายที่ดิน 21 โครงการ เนื้อที่รวมเกือบ 1,000 ไร่ ทำเลกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเริ่มดำเนินการภายในกันยายนนี้ โดยได้มีมติ ครม.อนุมัติไว้แล้วว่า กคช.สามารถขายที่ดินต่ำกว่าราคาตลาดได้ แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมิน คาดว่าจะมีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยไร่ละประมาณ 1 ล้านบาท

"การตัดขายที่ดินลอตใหญ่ครั้งนี้ ถัวเฉลี่ยน่าจะได้กำไร เพราะทำเลตั้งห่างจากชุมชนไม่เกิน 5 กิโลเมตร หรืออยู่ในทำเลเขตรอบ ๆ ชานเมืองทั่วประเทศ"

ส่วนนโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจขององค์กร ผู้ว่าการ กคช.กล่าวว่า ถือเป็นนโยบายสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง โดยจะมีการปรับโครงสร้าง 3 ด้าน คือ 1.จัดตั้งหน่วยงานดูแลอาคารเช่าที่กระจายทั่วประเทศประมาณ 50,000 ยูนิต ในจำนวนนี้ อาคารเช่าที่มีศักยภาพกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เยอะ เช่น พระราม 4 ห้วยขวาง นวมินทร์ ฯลฯ

การจัดระเบียบอาคารเช่า กคช.จะลงทุนปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็จะดูแลไม่ให้มีการรั่วไหลในบางจุด เพราะเมื่อสำรวจรายได้ส่วนนี้พบว่า ที่ผ่านมายังมีบางแห่งที่ราคา ค่าเช่าต่ำกว่าท้องตลาดพอสมควร อย่างอาคารเช่าบริเวณบ้านพระราม 4 เอกชนที่เช่าเหมาจาก กคช.มีการขอลดราคา อ้างว่าธุรกิจไม่ค่อยจะดีนัก กคช.อาจจะพิจารณายกเลิกเอกชนรายเดิมและสรรหารายใหม่เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทน

"กรณีตัวอย่างที่พระราม 4 ถ้าเขาไม่สามารถทำได้ก็จะหาคนใหม่มาทำ เพราะเป็นทำเลมีศักยภาพสูงมาก ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ถ้ามีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน"

2.การปรับโครงสร้างฝ่ายดูแลโครงการ แยกชัดเจนเป็นฝ่ายโครงการทางสังคม และฝ่ายโครงการทางพาณิชย์ โดยเฉพาะฝ่ายโครงการทางพาณิชย์จะเน้นความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะมีการโอนย้ายพนักงานสัดส่วน 25% มาอยู่ที่นี่ ภารกิจหลักคือ เป็นฝ่ายที่จะนำทรัพย์สินมาพัฒนาเชิงธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กคช.ลงทุนเอง หรือให้เอกชนร่วมลงทุน ล่าสุดคือ กคช.เตรียมนำที่ดิน 11 ทำเลเด่นทั่วประเทศชักชวนเอกชนร่วมลงทุน

3.จัดตั้งศูนย์บริหารสินเชื่อและหนี้ เป็นหน่วยงานใหม่ที่จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบเรื่องเช่าซื้อที่อยู่อาศัยภายใต้เครือข่ายของ กคช. เพื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน รูปแบบอาจจะจัดตั้งเป็นกองทุนชุมชนขึ้นมา โดย กคช.อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อเสนอของบประมาณสำหรับเป็นเงินกองทุนประเดิมก้อนแรก

"วงเงินที่จะขอจากรัฐบาลขึ้นกับปริมาณที่เราจะหาลูกค้า ในเบื้องต้นแผนธุรกิจของ กคช.เราจะพัฒนาปีละ 20,000 หน่วย คูณด้วยราคาเฉลี่ย 5 แสนบาท เท่ากับจะต้องมีเงินต้นตรงนี้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่เงินทุนที่จะขอสนับสนุนจากรัฐจะเป็นวงเงินสำหรับชดเชยดอกเบี้ย พูดง่าย ๆ เหมือนกับ กคช.ทำหน้าที่แทนสถาบันการเงิน"

ผู้ว่าการ กคช.ให้ข้อมูลด้วยว่า สถิติแต่ละปี กคช.ต้องรับซื้อคืนบ้าน เอื้ออาทรที่ไปค้ำประกันกับสถาบัน การเงินปีละประมาณ 3,000 ล้านบาทอยู่แล้ว มีบ้านเอื้ออาทรที่อยู่ในระบบ สินเชื่อของสถาบันการเงินสะสมประมาณ 170,000 ยูนิต ที่ยังเป็นปัญหาให้ กคช.ต้องรับซื้อคืนอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่จะเห็นในแผนดำเนินการปี 2555 ยังรวมถึงการปรับปรุงระบบก่อสร้าง เนื่องจากมีผู้รับเหมาจำนวนมากทำให้มีระบบก่อสร้างถึง 20-30 ระบบ กคช.กำลังศึกษาเพื่อจัดทำมาตรฐานระบบก่อสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยให้มีเพียง 1-2 ระบบ ซึ่งจะง่ายต่อการตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างและการควบคุมต้นทุน

"งานปรับปรุงระบบก่อสร้าง จะเพิ่มเรื่องมาตรฐานคุณภาพชีวิตเข้าไปด้วย นั่นคือจะใช้ระบบอีโอวิลเลจ วัสดุที่ใช้จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"

กรณีนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย ที่กระทบต่อองค์กร นายวิฑูรย์กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทกระทบต่อ ต้นทุนก่อสร้างโครงการโดยตรง การพัฒนาระบบมาตรฐานก่อสร้างไม่เกิน 2 ระบบ จะเป็นการรองรับทางอ้อม ขณะเดียวกัน นโยบายปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาทกระทบต่อโครงสร้างบุคลากรในช่วง 3 ปีจากการที่พนักงาน กคช.เกษียณอายุ จะต้องรับคนใหม่เข้ามาประมาณ 500 คน
ที่มา ประชาชาตืธุรกิจ


ไม่มีความคิดเห็น: