10ปีคนไทยโยกเงินฝากหันลงทุน"ประกัน-กองทุน"รับสิทธิภาษี

10ปีคนไทยโยกเงินฝากหันลงทุน"ประกัน-กองทุน"รับสิทธิภาษี
เศรษฐกิจชะลอ ดอกเบี้ยต่ำบีบคนมีเงินออมปรับพอร์ตลงทุน เผยข้อมูล 10 ปี ฝากเงินลดจาก 70% เหลือ 50% เผยหันซบกองทุนรวมประกันชีวิต คาดลดคุ้มครองเงินฝากกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงอีกรอบ แบงก์รับงานหนักเข็นโปรดักต์เพิ่มทางเลือกหลากหลาย

นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสและผู้จัดการฝ่าย สายงานธุรกิจเงินฝากและการลงทุนและประกันภัย ธนพัทธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงปี 2543-2553 ภาคครัวเรือนไทยปรับสัดส่วนการออมอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าการฝากเงินได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัย คือจาก 70% ของการออมภาคครัวเรือนโดยรวมในปี 2543 มาเป็น 50% ในสิ้นปี 2553


โดยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ฉุดให้ ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ได้ทำให้ผู้ออมเงินส่วนหนึ่งย้ายเงินไปลงทุนช่องทางอื่น โดยเฉพาะกองทุนรวม และประกันชีวิตออมทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนออมระยะยาวมากขึ้น โดยการให้สิทธิลดหย่อนภาษี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่จะเข้ามาทำให้โครงการการออมเปลี่ยนแปลงไปอีก นั่นคือการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เหลือ 50 ล้านบาทในปีนี้ และ 1 ล้านบาทในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ความได้เปรียบของธนาคารไม่ได้อยู่ที่การมีฐานเงินมากที่สุดเท่านั้น แต่ต้องมีผลิตภัณฑ์การออมที่หลากหลายมากขึ้น

"แบงก์จะชนะใจลูกค้าได้ไม่ใช่อยู่ที่การมีฐานเงินฝากมากที่สุดอีกต่อไปแต่อยู่ที่การมีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม จริง ๆ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการออมเกิดในต่างประเทศมานานแล้ว เช่นในสหรัฐตอนนี้มีสัดส่วนเงินฝากเพียง 20% ของเงินออมครัวเรือน" นายกฤษณ์กล่าว

นางสาวประภา ปูรณโชติ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ บลจ.ต่าง ๆ ได้แข่งกันออกกองทุนรวมตราสารหนี้แบบมีอายุ ที่อ้างอิงกับตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความเสี่ยง และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากเล็กน้อย มาดึงดูดเม็ดเงินในตลาดเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้พบว่า เม็ดเงินก้อนใหม่ที่ย้ายเข้ามาลงทุนในกองทุนนั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการลงทุนแบบมีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้น (Equity Fund) ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมกองทุน ที่จะต้องหาสินค้ามารองรับความต้องการ

"เรามีกองทุน Term Fund ไว้รองรับเม็ดเงินที่ย้ายมาจากเงินฝาก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากราว 0.50% ขณะที่กองทุนพวก Fix Income และ Money Market Fund ที่เหมาะกับการลงทุนแบบไม่ต้องการความเสี่ยงด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เมื่อมีการแข่งกันออกกองทุนก็ทำให้ผลตอบแทนของแต่ละค่ายแทบจะไม่ต่างกันเลย เราจึงต้องหาทางออกด้วยการทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในแบรนด์ ทำประชาสัมพันธ์กองทุนมากขึ้น" นางสาวประภากล่าว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ระบุว่า ใน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปรับลดการคุ้มครองเงินฝากวันที่ 11 ส.ค. ผู้ฝากเงินที่มียอดสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เริ่มย้ายเงินเข้าสู่ธนาคารขนาดใหญ่มากขึ้น เงินฝากที่ไม่เกิน 50 ล้านบาทยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พบว่าสัดส่วนผู้ฝากเงินมากกว่า 50 ล้านบาทในธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก 61.7% ในปลายไตรมาส 4 ปี 2553 เป็น 65.4% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554 แสดงให้เห็นการปรับตัวของผู้ฝากเงินรายใหญ่

รายงานระบุว่า การโยกย้ายที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงการชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่จะได้รับ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์ของความมั่นคง จะสามารถดึงเงินฝากได้มากกว่า

ธนาคารขนาดกลางและเล็กต้องใช้กลยุทธ์ราคาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเข้าช่วย เห็นได้จากส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยระหว่างกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และอีก 2 กลุ่มที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบัน ที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยสูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ 0.13%-0.20% ส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก 3-6 เดือน สูงกว่า 0.60%-0.70% 12-24 เดือนที่สูงกว่าเกือบ 0.40%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ



ไม่มีความคิดเห็น: