ดูเหมือนระบบเงินผ่อนได้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของหลายคนให้สะดวกสบายขึ้น หรือในทางตรงกันข้ามหลายคนอาจกำลังจมอยู่ใน “ดงดอกเบี้ย” และกำลังตะเกียกตะกายเพื่อหายใจอีกครั้ง
ดร.พงษ์พัฒน์ รักอารมณ์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต มองว่า ระบบเงินผ่อนมีทั้งข้อดีและจุดเสี่ยง อย่างข้อดีคือกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จุดเสี่ยงคือ ในคนรุ่นใหม่ที่มองเรื่องการผ่อนสินค้าเป็นเรื่องธรรมดา บางคนยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเงินอย่างเป็นระบบ อาจทำให้คนเหล่านี้เป็นหนี้สูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของอนาคต หากคนรุ่นใหม่มีหนี้เสีย
ปัจจุบันระบบเงินผ่อนมีความง่ายขึ้น และมีการจูงใจโดยการตลาดหลายอย่างเช่น ดาวน์น้อย การันตีกู้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือบัตรเครดิตมีข้อเสนอหกเดือนดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าใครมีกำลังผ่อนไหวก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่รู้จักบริหารการเงินก็เป็นเรื่องที่แย่พอสมควร
สำหรับอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนไม่มีเพดานที่ตายตัวขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในแต่ละช่วง การปล่อยให้สินเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงต้องมีการพัฒนาให้มีเครดิตบูโรในการตรวจสอบ ถึงอย่างไรการทำการตลาดที่ลงไปถึงคนทุกระดับย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายและต้องระวังถึงการปล่อยให้สินเชื่อง่ายเกินไป อย่างแต่ก่อนจะทำบัตรเครดิตได้ต้องมีเงินเดือนไม่ต่ำกว่าสองหมื่นบาท แต่เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นกว่าเดิมซึ่งเราไม่รู้ว่าหนึ่งคนจะมีบัตรเครดิตกี่ใบเพราะการทำตลาดที่ง่ายเพียงมีบัตรประชาชนหรือสลิปเงินเดือน
อย่างการจูงใจ เช่น ซื้อของโดยไม่มีเงินดาวน์ ผู้ที่ซื้อต้องมีการประมาณตนเองว่าในแต่ละเดือนต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เนื่องจากหลายคนผ่อนจนเพลินพอปลายเดือนมาดูเงินในบัญชีแทบไม่เหลือ หรือเด็กบางคนที่เพิ่งทำงานไม่ถึงหกเดือนมีบัตรเครดิตสามใบ ซึ่งในภาวะสังคมเมืองที่มีความยั่วยวนต่าง ๆ มากมาย เด็กที่เพิ่งเข้าสู่การทำงานมีบัตรที่มีวงเงินมากขนาดนั้นถ้าไม่มีการจัดการที่ดีย่อมก่อหนี้เป็นภาระให้กับตัวเองมหาศาล
ทางแก้ คือ คนที่ดูแลเครดิตบูโรต้องมีความเข้มงวดกว่านี้ ขณะเดียวกันถ้าเทียบกับในสหรัฐอเมริกาที่มีระบบเงินผ่อนมานานจะพบว่า การผ่อนใช้สินค้าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ประชาชนทุกคนต้องรู้จักการบริหารเงินที่เป็นระบบตั้งแต่ยังอยู่ในระบบการเรียนจนถึงช่วงที่ทำงาน ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยอเมริกันไม่สูงเท่าอัตราดอกเบี้ยของไทย ซึ่งทำให้ประชาชนอเมริกันเป็นหนี้กันเกือบทุกคน
“สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ในภาวะที่กระแสการโฆษณารุนแรงเช่นนี้ เพราะการบริหารเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะเงินอนาคต ขณะเดียวกันในกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำยิ่งต้องสร้างความเข้าใจ โดยให้ความรู้ในโรงงานเพราะเดี๋ยวนี้หลายบริษัทที่ให้เครดิตเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้าในโรงงานมากขึ้น”
สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำก็อย่าหลงระเริงกับบัตรที่ได้มา เราอาจนึกว่าผ่อนดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ก็ออกรถมอเตอร์ไซค์ได้ แต่เดือนหน้าเราก็อยากได้ทีวีผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์อีก เดือนถัดมาอยากได้ตู้เย็นอีก สุดท้ายศูนย์เปอร์เซ็นต์ที่เป็นแรงจูงใจทางการตลาดก็จะกลับมาทำร้ายเรา
“ส่วนนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล คนรุ่นใหม่ต้องถามตนเองก่อนว่ารถยนต์จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในเมืองแค่ไหน เพราะเดี๋ยวนี้มีรถไฟฟ้านั่งไปทำงานก็สะดวกกว่า การที่รัฐกระตุ้นให้เกิดระบบเงินผ่อนในหมู่คนที่จบใหม่ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่จะหันมาใช้เงินอนาคตมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องระวังในระยะยาว”
การสอนลูกหลานเรื่องการออมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มตั้งแต่ภายในครอบครัว โดยพ่อแม่พยายามปลูกฝังความพอเพียง เพราะในภาวะสังคมที่มีสิ่งยั่วยุมากมายการรู้ตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องพยายามสอนให้รู้ว่าเวลาใดที่สามารถผ่อนซื้อสินค้าได้เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอ เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงินผ่อนตั้งแต่การซื้อทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศหรือการผ่อนซื้อยางรถยนต์
ขณะที่คนซึ่งตกเป็นหนี้อยู่ตอนนี้ต้องรู้จักพอไม่ก่อหนี้ใหม่และใช้หนี้เก่าให้หมดไปก่อน พอหมดแล้วค่อยตั้งต้นใหม่ให้อยู่บนความพอเพียงแล้วชีวิตก็จะมีความสุขมากขึ้น
เงินออม ถือเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะสังคมที่ยังเอาแน่นอนอะไรไม่ได้กับเงินหลังเกษียณอายุ การพึ่งตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับบริษัทและธนาคารต่าง ๆ ที่ให้สินเชื่อต้องมีการตลาดที่ควบคู่กับจริยธรรมมากกว่าผลกำไรที่งอกเงยบนความทุกข์ยากของประชาชน.
................
เรียนรู้หลักการออม
ถ้าลองปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการออมเสียใหม่โดยใช้วิธี “เหลือเก็บค่อยเอาไปใช้” มองว่าการออมเป็นรายจ่ายเพื่ออนาคตที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยทุกครั้งที่มีรายรับเข้ามาให้หักเป็นรายจ่ายสำหรับการออมเพื่ออนาคตของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
หลังจากนั้นค่อยเป็นรายจ่ายเพื่อชำระภาระหนี้สินที่มีเรียงลำดับตามภาระของอัตราดอกเบี้ย จากหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินระยะสั้นได้แก่ หนี้สินจากบัตรเครดิต ที่หากชำระล่าช้ากว่ากำหนดนอกจากจะเสียดอกเบี้ยจากยอดค่าใช้จ่ายคงค้างที่สูงแล้ว ยังเสียค่าธรรมเนียมจากการชำระล่าช้าอีกด้วย และหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลดหลั่นลงมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินระยะยาว เช่น หนี้สินจากเงินกู้ซื้อรถยนต์ หรือบ้านและที่ดิน
ต่อมาค่อยนำเงินส่วนที่เหลือจากการออมและการชำระหนี้ มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้คุณก็สามารถบรรลุถึงระดับการออมตามที่คุณตั้งใจไว้ได้ และยังช่วยลดรายจ่ายประจำวันบางรายการที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นลงได้ เนื่องจากเงินที่เหลือสำหรับการใช้จ่ายในแต่ละเดือนน้อยลง การใช้จ่ายแต่ละอย่างจึงต้องคิดให้รอบคอบและคุ้มค่ามากขึ้น
การออมที่จะประสบความสำเร็จผู้ออมนอกจากจะต้องมีวินัยในการออมที่ดี คือ ออมสม่ำเสมอ แล้วยังต้องพยายามที่จะลดหรือจำกัดศัตรูที่สำคัญของการออมลงให้ได้มากที่สุดอีกด้วย ศัตรูที่สำคัญตัวแรกคือภาระหนี้สิน ซึ่งมีทั้งหนี้สินดีและไม่ดี หนี้สิ้นดี ได้แก่ หนี้สินที่สร้างความมั่งคั่งหรือก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต เช่น หนี้สินจากการกู้ซื้อบ้าน ที่นอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้เป็นเจ้าของแล้ว มูลค่าของบ้านยังมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี หนี้สินที่เกิดจากการซื้อรถยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางไปทำงาน หรือหนี้สินเพื่อการศึกษาพัฒนาทักษะการทำงานอันจะนำมาซึ่งผลตอบแทนจากการทำงานหรือเงินเดือนในอนาคตที่สูงขึ้น
ส่วน หนี้สินไม่ดี มีลักษณะที่สำคัญคือไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเพื่อการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์หรือเสื้อผ้าราคาแพง ทานอาหารในภัตตาคารหรูหรา ดังนั้นถ้าสามารถลดภาระหนี้สินโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้สินไม่ดีลงได้มากเท่าไร่ ก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการออมและเงินออมอันจะนำซึ่งความมั่งคั่งได้มากขึ้นเท่านั้น.
ทีมวาไรตี้
ที่มา เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น